ภาษีคณะบุคคล ตอนที่ 1
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากรนั้น นอกจากผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา รวมทั้งผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี และกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่งแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้ผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากรมิได้กำหนดคำนิยามคำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ไว้อย่างไร การจัดตั้งจึงกระทำได้โดยสัญญา ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้น การประกอบกิจการร่วมกันในฐานะของคณะบุคคลตามประมวลรัษฎากรจะต้องเป็นกรณีที่ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน โดยใน การประกอบกิจการในฐานะคณะบุคคลนั้นจะต้องร่วมกันประกอบกิจการตามความเป็น จริงและร่วมกันรับผิดชอบในกิจการของคณะบุคคลนั้น และเงินได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการจะต้องเป็นของคณะบุคคลด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรได้เคยวินิจฉัยถึงความแตกต่างของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่ นิติบุคคลกับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลในส่วนที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ คือ การมีวัตถุประสงค์ที่จะหากำไรและแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการอัน เป็นเงื่อนไขสำคัญของห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่คณะบุคคลไม่มี
คณะบุคคล มีสิทธิประกอบกิจการใดก็ได้ เว้นแต่โดยสภาพของหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำนั้นคณะบุคคลไม่อาจกระทำได้ เช่น การรับจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น
คณะ บุคคลเป็นหน่วยภาษีที่ถูกกำหนดขึ้นตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้ครอบคลุมการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีบุคคลตั้งแต่สองคน ขึ้นไป ตกลงกระทำกิจการร่วมกัน โดยให้ผู้จัดการหรือผู้อำนวยการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อ ของห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลนั้น จากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้น เสมือนเป็นบุคคลเดียวไม่มีการแบ่งแยก
ทั้งนี้ ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคน ไม่ต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสีย ภาษีอีก (มาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร)
นอกจากนี้ เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลในคณะบุคคลได้รับจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เฉพาะส่วนที่เกิดจากเงินได้ที่ได้เสียภาษีเงินได้ไว้ดังกล่าวให้ผู้มีเงิน ได้ได้รับยกเว้นภาษี (มาตรา 42(14) แห่งประมวลรัษฎากร)
ภาษีคณะบุคคล ตอนที่ 2
การจัดตั้งคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เพื่อการประกอบกิจการนั้น จะเป็นเสรีภาพตามกฎหมายที่กลุ่มบุคคลจะกระทำการได้ แต่ก็มีขอบเขตหรือโดยพื้นฐานแล้วควรเป็นไปโดยสุจริต และมีการประกอบกิจการจริง มิใช่เป็นไปเพื่อการทุจริตหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือทำให้ไม่ต้องเสียภาษีอากร และหากภายหลังมีการตรวจสอบพบว่า ไม่อยู่บนพื้นฐานดังกล่าว กรมสรรพากรอาจทำการประเมินย้อนหลัง และเสียหายไม่คุ้มกับจำนวนภาษีที่ประหยัดได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ทำการตรวจสภาพกิจการของ คณะบุคคล พบว่า มีการจัดตั้งคณะบุคคลจำนวนหกคณะ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ประกอบกิจการประเภทเดียวกัน และมีผู้จัดการคณะบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน คณะบุคคลฯ ทั้งหกคณะประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง โดยมีนาย จ. เป็นผู้จัดการคณะบุคคล ในปี 2548 คณะบุคคลทั้งหกคณะได้เข้าทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับบริษัท ก. จำกัด ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง จำนวน 10 หน่วย มูลค่างานเป็นเงิน 9,500,000 บาท ซึ่ง มีผลทำให้แต่ละคณะมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (รายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท)
แต่โดยที่มีการทำสัญญาฉบับเดียวกันและมีผู้ว่าจ้างรายเดียวกัน จึงเป็นกรณีที่คณะบุคคลทั้งหกคณะมีเจตนาร่วมกันในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว แม้ว่าในรายละเอียดการเบิกเงินตามเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างจะมี การระบุรายละเอียดงานและจำนวนเงินงวดตามคณะบุคคล แต่สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเป็นสัญญาที่ตกลงจ้างคณะบุคคลทั้งหกคณะ มิได้กำหนดว่าจ้างเป็นรายคณะบุคคลและการดำเนินการก่อสร้างก็ไม่อาจแบ่งแยก เนื้องานได้อย่างชัดเจนประกอบกับข้อสัญญาในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระบุการ จ่ายค่าจ้างเป็นรายงวดของงานที่ทำเสร็จให้แก่ผู้รับจ้างคิดเป็นมูลค่ารวมมิ ได้แบ่งแยกแต่อย่างใด
ดังนั้น คณะบุคคลทั้งหกคณะดังกล่าวจึงต้องเสียภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคลเพียงคณะ เดียวหรือในนามห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล และเนื่องจากการรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเป็นการให้บริการที่มีมูลค่าของฐาน ภาษีเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลดังกล่าวจึงต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่ม จากมูลค่างานทั้งหมดนั้นด้วย
ทำให้คณะบุคคลดังกล่าวต้องรับผิดเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ตามแนววินิจฉัยของกรมสรรพากรที่ กค 0706/10581 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2550 เป็นกรณีที่ได้ไม่คุ้มเสียเลยนะครับ...
ภาษีคณะบุคคล ตอนที่ 3
ในช่วงนี้ ในแวดวงภาษีสรรพากร หลายท่านที่ประกอบวิชาชีพอิสระ ซึ่งมีการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เพื่อการกระจายเงินได้พึงประเมินออกจากการมีเงินเดือนค่าจ้าง อันเป็นรายได้ประจำกันเป็นอันมาก จึงเกิดปัญหาตามมาว่าการจัดตั้งขึ้นห้างฯ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลดังกล่าวกระทำได้หรือไม่เพียงใด ดังตัวอย่างแนววินิจฉัยของกรมสรรพากร ต่อไปนี้ครับ
นาย ว. ได้จัดตั้งคณะบุคคลชื่อ “คณะบุคคลโดยนาย ว. หรือ ด.ช. จ.” และได้ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ประกอบกิจการรับทำบัญชี คณะบุคคลฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับ ปีภาษี 2547 ขอคืนภาษี สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร แจ้งว่า คณะบุคคลฯ ไม่สามารถรับทำบัญชีได้ และให้นำเงินได้จากการรับทำบัญชีดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภท เงินเดือนของนาย ว. นาย ว. จึงขอความเป็นธรรมในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าว
โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายมิได้กำหนดว่าผู้ร่วมในคณะบุคคลต้องมีความรู้ความสามารถในด้านเดียว กันหรือเท่าเทียมกัน แม้ ด.ช. จ. จะมีอายุย่างเข้า 12 ขวบ และเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 แต่ก็มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี โดยลักษณะงานที่ได้มอบหมายให้ ด.ช. จ. ช่วยปฏิบัติสนับสนุนการดำเนินกิจการของคณะบุคคลฯ ได้แก่ จัด เตรียมและพิมพ์ใบเสร็จรับเงินให้กับลูกค้า และเป็นผู้ลงนามในฐานะเป็นผู้รับเงินของสำนักงานบัญชี ค้นหาและสั่งพิมพ์ประกาศ และคำสั่งของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากรที่ได้แจ้งทางอินเทอร์เน็ต นำเอกสารของลูกค้าไปถ่ายเอกสาร และทำหน้าที่รับและส่งอีเมล จัดเก็บเอกสารเข้าแฟ้มและอื่น ๆ เป็นต้น
เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว กรมสรรพากรมีแนววินิจฉัยว่า
1. การประกอบกิจการร่วมกันในฐานะของคณะบุคคลตามประมวลรัษฎากรจะต้องเป็นกรณีที่ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน โดยในการประกอบกิจการในฐานะคณะบุคคลนั้นจะต้องร่วมกันประกอบกิจการตามความ เป็นจริงและร่วมกันรับผิดชอบในกิจการของคณะบุคคลนั้น และเงินได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการจะต้องเป็นของคณะบุคคลด้วย
2. คณะบุคคลมีสิทธิประกอบกิจการใดก็ได้ เว้นแต่โดยสภาพของหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำนั้นคณะบุคคลไม่อาจกระทำได้ เช่น การรับจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น
และในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ผู้อำนวยการหรือ ผู้จัดการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของคณะบุคคลนั้นตาม มาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามนัยหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/5637 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2548
ภาษีคณะบุคคล ตอนที่ 4
ถึงคราวที่มีคำถามไปที่ กรมสรรพากรว่า คณะบุคคลแพทย์จัดตั้งได้หรือไม่เพียงใด กรมสรรพากรได้มีหนังสือตอบข้อหารือที่ กค 0811/2227 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2545 ดังนี้
คณะบุคคลยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 ราย คณะที่ 1 คณะบุคคลนายแพทย์ ส. และคณะ จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบวิชาชีพเวชกรรมประกอบด้วย นายแพทย์ ส. และนายแพทย์ บ. โดยนายแพทย์ ส. เป็นผู้จัดการ และคณะที่ 2 คณะบุคคลนายแพทย์ บ. และคณะ จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบวิชาชีพเวชกรรมประกอบด้วย นายแพทย์ ส. และนายแพทย์ บ. เพื่อประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยนายแพทย์ บ.เป็นผู้จัดการ มีปัญหาว่าคณะบุคคลทั้งสองเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่
เกี่ยวกับเรื่องนี้กรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัยว่า
คณะบุคคลเป็นหน่วยภาษีที่ถูกกำหนดขึ้นตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้ครอบคลุมการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีบุคคลตั้งแต่สองคน ขึ้นไปตกลงกระทำกิจการร่วมกัน คณะบุคคลมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากยอดเงินได้พึงประเมินทั้ง สิ้นที่ได้จากการประกอบกิจการร่วมกัน ตามนัยมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบุคคลในคณะบุคคลทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงโดยไม่มีจำกัด
กรณีตามข้อเท็จจริงนายแพทย์ ส. และนายแพทย์ บ. มีเงินได้จากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมร่วมกัน จึงเข้าลักษณะเป็นคณะบุคคล แม้จะมีการจัดตั้งคณะบุคคลโดยแบ่งออกเป็น 2 คณะ แต่ทั้ง 2 คณะประกอบด้วยบุคคลในคณะบุคคลที่เป็นบุคคลเดียวกัน คือ นายแพทย์ ส. และนายแพทย์ บ. จึงต้องถือว่าเป็นคณะบุคคลเดียวกัน ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคณะบุคคล ดังกล่าว จึงต้องนำเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้นที่ได้รับจากการเป็นคณะบุคคลมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ก็เป็นอันว่า การสลับชื่อบุคคลในคณะบุคคลที่มีคณะบุคคลเป็นกลุ่มคนเดียวกันนั้น ไม่อาจทำให้เป็นคณะบุคคลใหม่แต่อย่างใด เป็นผลให้ต้องนำเงินได้มารวมกันเป็นคณะบุคคลเดียว ซึ่งอาจทำให้ได้คืนภาษีน้อยลงหรืออาจต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะอัตราภาษีก้าวหน้าตามฐานภาษีที่สูงขึ้นเพราะเหตุที่นำเงินได้มาคำนวณ รวมกัน
ปัญหาเกี่ยวกับการเสียภาษีเงิน ได้ ของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มุมภาษีนำมาเล่าสู่กันฟังนี้ เป็นมุมมองในอดีตของกรมสรรพากรที่ไม่ได้มีการแยกให้ชัดเจนว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญกับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลแตกต่างกันอย่างไร อาจเป็นเพราะผลสุดท้ายของ การเสียภาษีเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลเหมือนกันทุกประการและประมวลรัษฎากรก็มิได้มีการแยกแยะให้ชัดแจ้ง แต่อย่างใด เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ที่จะมีการทบทวนกันใหม่หมดทั้งระบบครับ
ภาษีคณะบุคคล ตอนจบ
แต่เดิมการจัดเก็บภาษีเงินได้จากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมิได้กำหนดคำนิยามคำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างไร
หากแต่กล่าวรวม ๆ กันไว้ในหลายบทบัญญัติอาทิ มาตรา 42 (14)-การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จาก ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
หรือมาตรา 56 วรรคสอง ซึ่งกำหนด หน้าที่ในการยื่นรายการและเสียเงินได้บุคคลธรรมดาในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ คณะบุคคลที่มิใช่ติบุคคลเสมือนเป็นบุคคลธรรมดา คนเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยก
โดยให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการหรือผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
กรณีการ จัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล การจัดตั้งจึงกระทำได้โดยสัญญา ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กรณีคณะบุคคล อันประกอบด้วยนาย ก. นาง ข. นาย ค. และนาง ง. ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ทำการซื้อขายที่ดิน ถือเป็นการแสดงเจตนาตกลงเข้ากันเพื่อซื้อที่ดินมาเพื่อขาย แม้จะได้มีการซื้อที่ดินบางแปลงโดยมีการระบุชื่อบุคคลในคณะบุคคลเพียงสามคน และต่อมาได้ขายไป โดยได้นำเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวทั้งหมดไปรวมคำนวณยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในนามของคณะบุคคลที่มีชื่อทั้งสี่คน
กรณี กรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัยตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/04248 ลงวันที่ 8 เมษายน 2541ว่า บุคคลทั้งสี่มีเจตนาในการจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ในการเสียภาษีจึงต้องเสียภาษีในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิ ใช่นิติบุคคลทั้งสี่คนนั้น
และสำหรับกรณีการเสียภาษีเงินได้จากการขายที่ดินนั้น แม้ตามสัญญาซื้อขายจะได้ระบุชื่อบุคคลเพียงสามคนคือ นาย ก. นาง ข. และนาย ค. โดยบุคคลทั้งสามได้ นำเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวไปคำนวณเพื่อเสียภาษี เงินได้ในนามของคณะบุคคลทั้งสี่คนแล้วก็ถือได้ว่าเมื่อบุคคลทั้งสี่คนมี เจตนาในการตกลงเข้ากันเพื่อการซื้อขายที่ดินดังกล่าว
และ แม้ตามสัญญาซื้อขายจะได้ระบุชื่อบุคคลเพียงสามคน บุคคลที่สี่จึงถือเป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อ ตามมาตรา 806 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นการเสียภาษีเงินได้สำหรับการขายที่ดินดังกล่าวในนามของคณะบุคคลทั้งสี่คน จึงชอบด้วยมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
ที่มา..หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์