ค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF

ชื่อเรื่อง : ขายหน่วยลงทุน RMF ก่อนครบกำหนด

คำถาม :

ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) แล้วขายก่อนห้าปีจะต้องเสียภาษีเงินได้อย่างไร

คำตอบ :

การขายหน่วยลงทุนดังกล่าวไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องนำผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาทุน ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตาม มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ในแบบ ภ.ง.ด.90

นอกจากนี้ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 สำหรับปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ตาม มาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร หากยื่นแบบฯ ภายในเดือนมีนาคม ของปีถัดจากปีที่หมดสิทธิไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ตาม ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)

ชื่อเรื่อง : การยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้อและขายคืนหน่วยลงทุน RMF กรณีเกษียณอายุ

คำถาม :

นาย ก เข้าทำงานที่บริษัท ป. เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2514 และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อ 4 เมษายน 2538 ต่อมาบริษัทปรับโครงสร้างธุรกิจได้โอนย้ายไปทำงานที่ บริษัท ซ. เมื่อ 1 กรกฎาคม 2545 และให้นับอายุการทำงานต่อเนื่อง ถามว่า

1. บริษัท ซ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้พนักงานเกษียณอายุเมื่อครบ 55 ปีบริบูรณ์ เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ นาย ก. ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่

2. นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ดังนี้

(1) 12 ธันวาคม 2545 จำนวนเงิน 180,000 บาท

(2) 9 ธันวาคม 2546 จำนวนเงิน 200,000 บาท

(3) 25 พฤศจิกายน 2547 จำนวนเงิน 100,000 บาท

(4) 16 ธันวาคม 2547 จำนวนเงิน 70,000 บาท

(5) 2 ธันวาคม 2548 จำนวนเงิน 100,000 บาท

(6) 12 ธันวาคม 2549 จำนวนเงิน 100,000 บาท

นาย ก. ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้จากการซื้อหน่วยลงทุน RMF แล้ว ต่อมาได้ขายคืนหน่วยลงทุน เมื่อ 13 ธันวาคม 2550 ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมใช่หรือไม่

คำตอบ :

1. นาย ก. มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะเกษียณอายุที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนฯ เมื่อออกจากงานเพราะเกษียณอายุดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(36) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)

2. นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรกเมื่อ 12 ธันวาคม 2545 ดังนั้น วันที่ครบกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก คือวันที่ 12 ธันวาคม 2550 การที่นาย ก. ขายคืนหน่วยลงทุนตั้งแต่ 13 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป ถือว่าได้ถือหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น เงินที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน และเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุน ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตาม มาตรา 42(17)แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 2(55) และ (65) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

 

ชื่อเรื่อง : เอกสารที่ใช้แสดงสิทธิในการยกเว้นเงินได้ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กรณีไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนกำหนดเวลาเนื่องจากเหตุทุพพลภาพ

คำถาม :

ผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก่อนกำหนดเวลาตามหลักเกณฑ์การได้สิทธิยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ค่าซื้อหน่วยลงทุนมารวมคำนวณเพื่อเสียเงินได้บุคคลธรรมดาเนื่องจากเหตุทุพพลภาพ จะต้องใช้หลักฐานใดให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

คำตอบ :

ต้องเป็นกรณีที่แพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพซึ่งก่อให้เกิดเงินได้ที่จะนำมาซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวต่อไปได้

ชื่อเรื่อง : การยกเว้นเงินได้ สำหรับค่าซื้อหน่วยลงทุน กรณีโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ไปยังอีกกองทุนหนึ่ง

คำถาม :

โอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองหนึ่งไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอีกกองหนึ่งโดยไม่ต้องการให้เสียสิทธิการได้รับยกเว้นเงินได้ สำหรับค่าซื้อหน่วยลงทุน จะต้องปฏิบัติอย่างไร

คำตอบ :

กรณีผู้มีเงินได้ได้โอนการลงทุนในหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ทั้งหมดหรือบางส่วน ไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอีกกองทุนหนึ่ง ไม่ว่าจะโอนไปยังกองทุนเดียวหรือหลายกองทุน ผู้มีเงินได้จะต้องโอนการลงทุนไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวนั้นภายใน 5 วันทำการนับแต่วันถัดจากวันที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่โอนได้รับคำสั่งโอนจากผู้มีเงินได้ จึงจะถือว่าระยะเวลาในการถือหน่วยลงทุนในกรณีดังกล่าวมีระยะเวลาต่อเนื่องกัน และกองทุนฯ ที่โอนจะต้องจัดทำเอกสารหลักฐานการโอนส่งมอบให้แก่กองทุนฯ ที่รับโอนเก็บไว้เป็นหลักฐานพร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

ชื่อเรื่อง : การหักลดหย่อน กรณีขายคืนหน่วยลงทุน RMF และ LTF ส่วนที่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้

คำถาม :

การขายคืนหน่วยลงทุน RMF และ LTF ส่วนที่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ (ส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้น) จะมีค่าปรับหรือไม่ อย่างไร และจะใช้ราคาอันใดในการคำนวณ

คำตอบ :

การขายคืนหน่วยลงทุน RMF หรือ LTF ดังกล่าว หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตามข้อ 2(65) และ (67) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยให้คำนวณมาจากเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF หรือ LTF ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ตามข้อ 2(55) และ (66) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ดังนั้น หากมิได้มีการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างไร

 

ชื่อเรื่อง : การซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF

คำถาม :

การยกเว้นภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่หักได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้นั้น คำนวณจากเงินได้หลังหรือก่อนหักการยกเว้นภาษีกรณีเงินได้สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ และเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

คำตอบ :

กรณีซื้อหน่วยลงทุนใน (RMF) หรือ (LTF) ที่ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีให้ยกเว้นได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินก่อนหักยกเว้นภาษีกรณีผู้มีเงินได้อายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับ และเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

ชื่อเรื่อง : ยกเว้นภาษีสำหรับค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF

คำถาม :

ในปี 2548 นายเอกได้รับเงินเดือนจากบริษัท ส. จำกัด และมีเงินได้ที่จ่ายให้ครั้งเดียวเหตุเพราะออกจากงานที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ บริษัท ป. จำกัด ซึ่งมีอายุงาน 19 ปี โดยออกจากกองทุนฯ ในปี 2547 แต่รับเงินจำนวนนี้ในปี 2548 นายเอกได้แยกคำนวณเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ในใบแนบแบบ ภ.ง.ด.91 ส่วนเงินเดือนคำนวณในแบบ ภ.ง.ด.91 โดยขอยกเว้นเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ทั้งประเภทเงินเดือนและเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 300,000 บาท ถูกต้องหรือไม่

คำตอบ :

การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(55) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) และ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90) ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ ทั้งนี้จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ซึ่งเมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ต้องไม่เกิน 300,000 บาท ดังนั้น

นายเอก จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ทั้งสิ้น ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น

 

ชื่อเรื่อง : การคำนวณต้นทุนผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหน่วยลงทุน กรณีขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก่อนกำหนดเวลา

คำถาม :

หากมีการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก่อนกำหนดเวลา โดยถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาไม่ถึง 5 ปีปฏิทิน การคำนวณต้นทุนผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหน่วยลงทุนเพื่อเสียภาษีให้คำนวณอย่างไร

คำตอบ :

ผลประโยชน์ที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนกรณีดังกล่าว ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยการคำนวณต้นทุนให้คำนวณโดยวิธีเข้าก่อนออกก่อน(FIFO)

ชื่อเรื่อง : ภริยามีเงินได้หลายประเภทซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF

คำถาม :

ภริยามีเงินได้ประเภทเงินเดือนและเงินปันผล สามีมีเงินเดือนอย่างเดียว การซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน RMF และ LTF ของภริยาจะซื้อได้ อัตราร้อยละ 15 จากเงินได้เงินเดือนรวมกับเงินปันผลหรือไม่ เนื่องจากเงินปันผลต้องถือเป็นเงินได้ของสามี

คำตอบ :

การซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน RMF และ LTF เป็นสิทธิของผู้มีเงินได้ เมื่อภริยาเป็นผู้มีเงินได้ แม้จะยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในนามของสามี สิทธิดังกล่าวยังเป็นของภริยาอยู่เช่นเดิม ภริยาสามารถซื้อได้ตามสัดส่วนของเงินได้ของตนเอง

 

ที่มา.. http://www.rd.go.th/publish/36195.0.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น