มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 25 (ปรับปรุง 2550)

เรื่อง งบกระแสเงินสด
คำแถลงการณ์
มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ได้ปรับปรุงถ้อยคำและแก้ไขรูปแบบใหม่ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดย
มาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 7 เรื่อง งบกระแสเงินสด พ.ศ. 2549 (IAS 7 Cash Flows Statements
(2006)) ซึ่งมีข้อแตกต่างจากฉบับเดิมคือ มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ยกเลิกการแสดงกระแสเงินสดที่เกี่ยวข้องกับรายการพิเศษ

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 25 (ปรับปรุง 2550) เรื่อง งบกระแสเงินสด
ขอบเขต
1. กิจการต้องจัดทำงบกระแสเงินสดโดยให้ปฏิบัติตามที่กำหนดในมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้และถือเป็น
งบหนึ่งของงบการเงินที่เสนอในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
คำนิยาม
2. คำศัพท์ที่ใช้ในมาตรฐานฉบับนี้มีความหมายโดยเฉพาะดังต่อไปนี้
เงินสด หมายถึง เงินสดในมือและเงินฝากธนาคารที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม
รายการเทียบเท่าเงินสด หมายถึง เงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งพร้อมที่จะ
เปลี่ยนเป็นเงินสดในจำนวนที่ทราบได้ และมีความเสี่ยงต่อ
การเปลี่ยนแปลงในมูลค่าน้อย หรือไม่มีนัยสำคัญ
กระแสเงินสด หมายถึง การได้มาและใช้ไปของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
กิจกรรมดำเนินงาน หมายถึง กิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดรายได้ของกิจการ และกิจกรรมอื่น
ที่มิใช่กิจกรรมลงทุนหรือกิจกรรมจัดหาเงิน
กิจกรรมลงทุน หมายถึง การได้มาและจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวและเงินลงทุนอื่น
ซึ่งไม่รวมอยู่ในรายการเทียบเท่าเงินสด
กิจกรรมจัดหาเงิน หมายถึง กิจกรรมที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในขนาดและ
องค์ประกอบของส่วนของเจ้าของและส่วนของการกู้ยืมของ
กิจการ
การนำเสนองบกระแสเงินสด
3. งบกระแสเงินสดต้องแสดงกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี โดยจำแนกเป็น
กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน จากกิจกรรมลงทุน และจากกิจกรรมจัดหาเงิน
การแสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน
4. กิจการต้องแสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน โดย
4.1 วิธีทางตรงซึ่งแสดงเงินสดรับและเงินสดจ่ายตามลักษณะของรายการหลักที่สำคัญ หรือ
4.2 วิธีทางอ้อม ซึ่งแสดงด้วยยอดกำไรหรือขาดทุนสุทธิปรับปรุงด้วยผลกระทบของรายการที่ไม่
เกี่ยวกับเงินสด และรายการค้างรับ ค้างจ่ายของเงินสดรับและเงินสดจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการ
ดำเนินงานในอดีตหรือในอนาคต และรายการของรายได้หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับกระแสเงินสด
จากการลงทุนหรือการจัดหาเงินการแสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุนและกิจกรรมจัดหาเงิน
5. กิจการต้องแสดงเงินสดรับและเงินสดจ่ายแยกตามลักษณะรายการที่สำคัญต่างๆ ที่เกิดจากกิจกรรม
ลงทุนและกิจกรรมจัดหาเงิน ยกเว้นกระแสเงินสดตามที่ระบุในย่อหน้า 6 และ 7 ให้แสดงด้วยยอดสุทธิ
การแสดงกระแสเงินสดเป็นยอดสุทธิ
6. กระแสเงินสดที่เกิดจากกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน หรือกิจกรรมจัดหาเงินต่อไปนี้ อาจจะแสดง
ด้วยยอดสุทธิได้ คือ
6.1 เงินสดรับและจ่ายแทนลูกค้าถ้ากระแสเงินสดสะท้อนถึงกิจกรรมของลูกค้ามากกว่ากิจกรรมของ
กิจการ และ
6.2 เงินสดรับและจ่ายของรายการที่หมุนเร็ว จำนวนเงินมาก และอายุถึงกำหนดสั้น
7. กระแสเงินสดที่เกิดจากแต่ละกิจกรรมของสถาบันการเงินต่อไปนี้ อาจแสดงด้วยยอดสุทธิ คือ
7.1 เงินสดรับและจ่ายสำหรับรายการรับฝากเงินและรายการจ่ายคืนเงินฝากที่ระบุวันถึงกำหนด
ไว้แน่นอน
7.2 การนำเงินไปฝากและการถอนเงินฝากจากสถาบันการเงินอื่น และ
7.3 เงินสดที่จ่ายล่วงหน้าเพื่อลูกค้าและเงินให้กู้แก่ลูกค้า การจ่ายคืนเงินล่วงหน้าเพื่อลูกค้าและ
เงินกู้ยืมดังกล่าวนั้น
กระแสเงินสดที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
8. กระแสเงินสดจากรายการที่เป็นเงินตราต่างประเทศต้องบันทึกเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ในการดำเนินงาน
ของกิจการที่เสนองบการเงินโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินหลักที่ใช้ในการดำเนินงานและ
สกุลเงินตราต่างประเทศ ณ วันที่เกิดรายการของกระแสเงินสด
9. กระแสเงินสดของบริษัทย่อยในต่างประเทศต้องแปลงค่าเงินตราตามอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงิน
หลักที่ใช้ในการดำเนินงานและสกุลเงินตราต่างประเทศ ณ วันที่เกิดรายการของกระแสเงินสด
ดอกเบี้ยและเงินปันผล
10. กิจการต้องเปิดเผยกระแสเงินสดรับ และกระแสเงินสดจ่ายสำหรับดอกเบี้ยและเงินปันผล แยกเป็น
รายการต่างหากและควรจัดประเภทแต่ละรายการเข้าเป็นกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน หรือ
กิจกรรมจัดหาเงินในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีโดยสม่ำเสมอ
ภาษีเงินได้
11. กิจการต้องเปิดเผยกระแสเงินสดจากภาษีเงินได้เป็นรายการแยกต่างหากและต้องจัดประเภทไว้เป็น
กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน ยกเว้นในกรณีที่ระบุโดยเจาะจงได้ว่าเป็นของกิจกรรมจัดหาเงิน
และกิจกรรมลงทุนการซื้อและจำหน่ายบริษัทย่อยและหน่วยธุรกิจอื่น
12. ยอดรวมของกระแสเงินสดที่เกิดจากการซื้อและจากการจำหน่ายบริษัทย่อยหรือหน่วยธุรกิจอื่นต้อง
แสดงเป็นรายการแยกต่างหากและจัดเป็นกิจกรรมลงทุน
13. กิจการต้องเปิดเผยรายการเกี่ยวกับการซื้อและการจำหน่ายบริษัทย่อยหรือหน่วยธุรกิจอื่นที่เกิดขึ้น
ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีด้วยจำนวนรวม ดังนี้
13.1 ยอดซื้อทั้งหมดหรือสิ่งตอบแทนทั้งหมดที่ได้รับจากการจำหน่าย
13.2 สัดส่วนของการซื้อหรือสิ่งตอบแทนที่ได้รับจากการจำหน่ายที่ได้มีการจ่ายชำระกันเป็นเงินสดและ
รายการเทียบเท่าเงินสด
13.3 จำนวนเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในบริษัทย่อยหรือหน่วยธุรกิจที่ซื้อ หรือจำหน่าย และ
13.4 มูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินนอกเหนือจากรายการเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดในบริษัท
ย่อยหรือหน่วยธุรกิจที่ซื้อหรือขายโดยสรุปแยกตามประเภทหลัก
รายการที่มิใช่เงินสด
14. รายการลงทุนและรายการจัดหาเงินที่มิได้มีการใช้เงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดต้องไม่นำมารวม
ในงบกระแสเงินสด รายการดังกล่าวต้องเปิดเผยให้ทราบไว้ในส่วนอื่นของงบการเงินเพื่อเป็นการให้
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่เกี่ยวกับกิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน
องค์ประกอบของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
15. กิจการต้องแสดงองค์ประกอบของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดและแสดงการกระทบยอดของ
จำนวนเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่แสดงในงบกระแสเงินสดกับรายการที่เทียบเท่าตามที่แสดง
ในงบดุล
การเปิดเผยอื่น
16. กิจการต้องเปิดเผยจำนวนเงินของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่มีนัยสำคัญที่กิจการถือไว้แต่ไม่
อาจจะนำไปใช้โดยบริษัทในกลุ่ม โดยให้มีคำชี้แจงของฝ่ายบริหารประกอบด้วย
วันถือปฏิบัติ
17. มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 25 (ปรับปรุง 2550) ให้ถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลา
บัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป

คลิ๊กเพื่อดูไฟล์ฉบับเต็ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น