การวางแผนเกี่ยวกับค่ารับรอง ตอน 1
26 ธันวาคม พ.ศ. 2550 05:00:00
ในช่วงใกล้ปีใหม่ เลยเรื่อยไปจนถึงตรุษจีน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะมีรายจ่ายค่ารับรองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าช่วงเวลาปกติ จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ปุจฉา มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับค่ารับรองหรือค่าบริการอย่างไร
วิสัชนา ค่ารับรองหรือค่าบริการที่จะนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้นั้น มีข้อกำหนดให้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. เงื่อนไขในการรับรองหรือบริการ
1.1 ต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป ซึ่งเป็นเงื่อนไขอัตโนมัติที่ไม่ต้องพิจารณา เพราะการรับรองตามปกติประเพณี อันถือเป็นธรรมเนียมที่นิยมถือปฏิบัติกันโดยทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม หากการรับรองหรือบริการนั้น ผิดไปจากเงื่อนไขดังกล่าว เช่น รับรองเพื่อให้เกิดสิทธิหรือประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงรับรองหรือผู้ให้บริการที่มากกว่าสิทธิหรือประโยชน์ทั่วไปที่พึงได้ ก็ย่อมถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามเงื่อนไขข้อนี้ไม่ได้
1.2 บุคคลที่ทำการรับรองต้องไม่ใช่ลูกจ้าง เว้นแต่ลูกจ้างจะมีหน้าที่หรือมีส่วนเข้าร่วมในการรับรองหรือบริการนั้นด้วย มีการกำหนดเงื่อนไขตัวบุคคลที่จะได้รับการเลี้ยงรับรองหรือรับบริการว่า ต้องเป็นบุคคลภายนอกที่มิใช่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีการรับรองหรือบริการ แต่ก็ยังเปิดช่องไว้ให้พนักงานหรือลูกจ้างที่มีหน้าที่หรือมีส่วนโดยตรงต่อการรับรองหรือบริการก็ให้มีส่วนเข้าร่วมในงานเลี้ยงรับรองหรือบริการนั้นได้
2. ลักษณะของค่ารับรองหรือค่าบริการ
2.1 ต้องเป็นค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
(1) ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการเช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น
(2) ค่าใช้จ่ายในการรับรองหรือบริการดังกล่าวมีโอกาสที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ ซึ่งไม่ผูกพันว่าจ่ายค่ารับรองหรือบริการนั้นแล้วกิจการต้องได้รับประโยชน์โดยตรง เช่น การรับรองหรือบริการเพื่อมิตรภาพ ไมตรีจิตอันดีงาม การรับรองเนื่องในธุรกิจการค้า การรับรองเพื่อแสดงความยินดีในความสำเร็จในการทำสัญญาทางธุรกิจ เป็นต้น
ดังนั้น ค่าอาหารและเครื่องดื่มตามหลักฐานที่ปรากฏอาจไม่ใช่ค่ารับรองหรือค่าบริการ หากมิได้มีการรับรองหรือบริการแก่บุคคลภายนอกอย่างแท้จริง เช่น รายจ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตนและครอบครัวของกรรมการหรือพนักงานหรือที่ปรึกษาของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือให้โดยเสน่หา
2.2 ในกรณีที่เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการ ต้องมีจำนวนไม่เกิน 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ
2.3 กรณีที่ค่ารับรองหรือค่าบริการ ตลอดจนค่าสิ่งของที่ให้แก่ผู้ที่ได้รับการรับรองดังกล่าวมีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีซื้อ ให้นำค่าภาษีซื้อมารวมเป็นรายจ่ายค่ารับรองหรือค่าบริการด้วย เนื่องจากภาษีซื้อสำหรับค่ารับรองหรือค่าบริการเป็นภาษีซื้อต้องห้ามมิให้นำไปเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยอมให้นำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร
3. หลักฐานและการอนุมัติ
3.1 ค่ารับรองหรือค่าบริการต้องมีใบรับ หรือหลักฐานของผู้รับ หรือหลักฐานอื่นในกรณีที่ไม่มีใบรับ เช่น รายงานการเดินทาง ประกอบการบันทึกรายจ่าย
3.2 ค่ารับรองหรือบริการ ต้องมีการอนุมัติหรือสั่งจ่าย โดยกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว
ดังนั้น นอกจากการมีหลักฐานประกอบการถือเป็นรายจ่ายในการรับรองหรือบริการแล้ว ในการอนุมัติสั่งจ่ายโดยกรรมการ หรือผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว จึงควรอย่างยิ่งที่จะระบุผู้ที่ได้รับการรับรองไว้ด้วย เพื่อพิสูจน์แสดงว่ามิใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา ซึ่งถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
4. จำนวนเงินค่ารับรองหรือค่าบริการตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 0.3 ของยอดรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใดๆ ในรอบระยะเวลาบัญชีหรือของเงินทุนชำระแล้วเพียง ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างไรจะมากกว่า ทั้งนี้ รายจ่ายที่จะนำมาหักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
การวางแผนเกี่ยวกับค่ารับรอง ตอน 2
2 มกราคม พ.ศ. 2551 05:00:00
ขอนำประเด็นการวางแผนเกี่ยวกับรายจ่ายค่ารับรองหรือค่าบริการเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน เนื่องจากในช่วงใกล้ปีใหม่ เลยเรื่อยไปจนถึงตรุษจีน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะมีรายจ่ายค่ารับรองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ปุจฉา มีแนวทางในการวางแผนภาษีเกี่ยวกับค่ารับรองหรือค่าบริการอย่างไร
วิสัชนา มีแนวทางในการวางแผนภาษีอากร โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายจ่ายค่ารับรองหรือค่าบริการที่จะนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล พอสังเขปต่อไปนี้
1. ศึกษาเงื่อนไขเกี่ยวกับค่ารับรองหรือค่าบริการตามที่กฎหมายกำหนด ให้ชัดเจน ซึ่งประกอบด้วย
(1) ต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป
(2) ต้องรับรองบุคคลที่ไม่ใช่ลูกจ้าง เว้นแต่ลูกจ้างจะมีส่วนเข้าร่วมในการรับรองหรือบริการนั้นด้วย
(3) ค่ารับรองหรือค่าบริการที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ
(4) กรณีที่เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการ ต้องมีจำนวนไม่เกิน 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ
(5) ต้องมีหลักฐานประกอบรายจ่ายค่ารับรองหรือบริการ และมีการอนุมัติหรือสั่งจ่ายโดยกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว
(6) รายการค่ารับรองใดที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มให้นำมาถือรวมเป็นรายจ่ายค่ารับรองด้วย
2. กำหนดจำนวนค่ารับรองหรือค่าบริการไม่ให้มีจำนวนสูงเกินกว่าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดได้โดยนำประมาณการรายได้ มาคำนวณตามอัตราค่ารับรองหรือค่าบริการ ตามที่กฎหมายกำหนด ตามข้อ 1.4 แล้วจัดสรรแจกจ่ายจำนวนค่ารับรองไปยังแผนกหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็จะสามารถควบคุมจำนวนค่ารับรองหรือค่าบริการให้จำกัดในวงเงินไม่เกินกว่าจำนวนค่ารับรองหรือค่าบริการตามที่กำหมายกำหนดอันจะเป็นผลดีต่อทั้งการดำเนินกิจการ และการวางแผนภาษีอากร เพื่อความสะดวกในการคำนวณจำนวนค่ารับรองตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มียอดรายได้หรือยอดขายที่นำมาคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือเงินทุนชำระแล้วเพียง ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี เกินกว่า 3,333,333,333.33 บาทขึ้นไป ซึ่งสามารถคำนวณจำนวนค่ารับรองหรือค่าบริการได้เพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น
ในกรณีที่มียอดรายได้หรือยอดขายที่นำมาคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือเงินทุนชำระแล้วเพียง ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีมีจำนวนต่ำกว่า 3,333,333,333.33 บาท จึงจะคำนวณค่ารับรองทางภาษีอากรในอัตราร้อยละ 0.3 ของยอดรายได้หรือยอดขายที่นำมาคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือเงินทุนชำระแล้วเพียง ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แต่ถ้ายอดรายได้หรือยอดขายที่นำมาคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือเงินทุนชำระแล้วเพียง ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีมีจำนวนตั้งแต่ 3,333,333,333.33 บาทขึ้นไป ให้ใช้จำนวน 10,000,000 บาทเป็นจำนวนค่ารับรองสูงสุดที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะสามารถถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรได้
3. หลีกเลี่ยงการให้การรับรองหรือการบริการเป็นสิ่งของ เพราะมีข้อกำหนดจำนวนค่ารับรองหรือค่าบริการไว้ค่อนข้างจำกัดไม่เกิน 2,000 บาทในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ ในขณะที่จำนวนค่ารับรองหรือบริการที่เป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬาเป็นต้นนั้น มิได้มีการจำกัดจำนวนไว้ นอกจากนี้การให้สิ่งของเป็นค่ารับรองหรือการบริการอาจต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
4. แม้โดยข้อกำหนดของกฎหมายจะมิได้ให้ระบุชื่อของผู้ถูกรับรองไว้ในเอกสารหลักฐานประกอบรายจ่ายค่ารับรองหรือบริการ แต่การกำหนดว่าต้องรับรองบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกจ้าง เว้นแต่ลูกจ้างจะมีส่วนเข้าร่วมในการรับรองหรือบริการนั้นด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องระบุชื่อผู้ถูกรับรองหรือบริการไว้ในหลักฐานการจ่ายเสมอ เช่น ในใบสำคัญการลงบัญชี (SLIP) หรือรายงานการขออนุมัติรายจ่ายค่ารับรอง
5. ในปีที่แล้วไม่มีรายได้หรือยอดขาย ก็สามารถมีค่าใช้จ่ายได้ โดยคำนวณค่ารับรองหรือบริการจากฐานเงินทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วจนถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
6. ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดมียอดรายได้หรือยอดขายสูงกว่าเงินทุนชำระแล้วจนถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ฐานที่จะนำมาคำนวณจำนวนค่ารับรองหรือบริการต้องเป็น ยอดรายได้หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิ ดังนั้น จึงไม่นำรายได้ที่ได้รับยกเว้นมารวมเป็นฐานในการคิดค่ารับรองหรือบริการ แต่ต้องนำรายได้ก่อนหักต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เช่น ยอดขายทรัพย์สินเก่าก่อนหักต้นทุน กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนก่อนหักผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม รายได้เบ็ดเตล็ดในส่วนที่หักกลบกับรายจ่าย ฯลฯ มารวมเป็นฐานในการคิดค่ารับรองหรือบริการด้วย
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/
ขอบคุณมาก ๆ นะค่ะสำหรับบทความดีๆ
ตอบลบ