หุ้น..แจ้งว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า

“แจ้งว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าเลยดีไหม” 

การเรียกชำระค่าหุ้น...100% (แบบโอเว่อร์เกินจริง) มันเป็นเทคนิคการจดทะเบียนอย่างหนึ่งที่ชอบใช้กันเสมอ พบได้ทั่วไป ซึ่งหลายท่านดำเนินการจดทะเบียนโดยไม่ได้ศึกษาถึงรายละเอียดผลดีผลเสีย วิธีการจัดการให้ดีซะก่อน จึงเกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมายเลยทีเดียว
      สมมุติว่า นายจิตร่วมกับญาติ และเพื่อนๆ ตั้งบริษัทขึ้นมาแห่งหนึ่ง มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยนายจิตเป็นกรรมการบริษัทแต่เพียงผู้เดียว ได้ดำเนินการจดทะเบียนจนแล้วเสร็จและได้รับหนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ มาไว้ในครอบครองเป็นที่เรียบร้อย โดยระบุว่าบริษัทได้มีการรับชำระทุนจดทะเบียนจากผู้ถือหุ้นเต็มมูลค่าครบ ทั้ง 10 ล้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  แต่ข้อเท็จจริงคือ นายจิตมีเงินค่าหุ้นที่ได้รับชำระแล้วเข้าบริษัทจริงๆ แค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลืออีก 9 ล้าน...เป็นแค่เพียงอากาศเท่านั้น ส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่นที่เป็นญาติ และเพื่อนๆ นั้น แค่ขอยืมชื่อเขามาใส่ถือคนละหุ้น เพื่อให้ครบจำนวนก็แค่นั้นเอง ไม่ได้มีการจ่ายเงินค่าหุ้นให้นายจิต จริงแต่อย่างใด
      การจดทะเบียนโดยเรียกชำระค่าหุ้นเต็ม 100% แบบหลอกๆ (หรือที่มักเรียกกันว่า หุ้นลม) อย่างนี้ ทำให้นายจิตซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทมีสภาพเป็น "ลูกหนี้เงินกู้ยืมจากบริษัท" ไปในบัดดล เหตุผล ที่ทำให้นายจิตกลายเป็นลูกหนี้ของบริษัท ก็เพราะในตอนที่ประชุมจัดตั้งบริษัทนั้น กฎหมายได้กำหนดให้กรรมการชุดแรกของบริษัทเป็นผู้เรียก และรับชำระเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้น ก่อนจะนำเอกสารต่างๆ ไปจดทะเบียนตั้งบริษัท
      โดยที่เอกสารชุดที่นำไปขอจดทะเบียน จะมีรายงานอยู่ฉบับหนึ่งที่กรรมการต้องเซ็นต์ชื่อรับรองว่า "มีการเรียกและรับชำระค่าหุ้นมาแล้วเป็นจำนวนเท่าใด" ซึ่งนายจิตก็ได้เซ็นต์ชื่อรับรองไปว่าได้รับค่าหุ้นมาครบแล้ว 10 ล้าน โรคจิตสมชื่อจริงๆ... (นี่คือเทคนิคที่เขาชอบแนะนำให้ทำกัน) และตอนไปจดทะเบียนเจ้าหน้าที่ ที่รับจดทะเบียนเขาไม่ได้ขอตรวจนับเงินกันจริงๆ ซะด้วยสิ....เริ่มสนุกแล้วสิ
      และเมื่อถึงสิ้นปี บริษัทต้องจัดทำงบการเงินให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและรับรอง พอผู้สอบบัญชีเขาตรวจดูก็จะทราบทันที ว่าอะไรเป็นอะไร(อ๋อ....จดทะเบียนแบบนี้กันอีกแล้ว)
      เมื่อมีเงินไม่ครบ แล้วจะทำไงล่ะครับทีนี้…… ไม่ยากครับผู้สอบบัญชีก็ต้องให้ลงเป็นลูกหนี้เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการบริษัทไปก็เท่านั่นเองครับ (ผู้สอบบัญชีคงไม่ยอมเสี่ยงคุกกับกรรมการด้วยแน่ๆ) เพราะเอกสารหลักฐานบ่งบอก และตามกฎหมายอย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า " กรรมการเป็นคนรับผิดชอบเงินค่าหุ้นทั้งหมด ที่รับมาก่อนจะจดทะเบียนบริษัท ดังนั้น ถ้ามีส่วนขาดหายไปกรรมการบริษัทต้องเป็นผู้รับผิดชอบ"
ประเด็นต่อมา คือ เมื่อบริษัทให้บุคคลภายนอก (กรรมการ หรือผู้ถือหุ้น) กู้ยืมเงินไป จะต้องคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ ซึ่ง ในกรณีนี้ก็คือ นายจิตกรรมการโรคจิตของเรานั่นเอง จะไม่คิดดอกเบี้ยไม่ได้ครับ......เฮียสรรพากรแกคงไม่ยอมเป็นแน่ครับ เพราะถือว่า บริษัทเสียประโยชน์จากการนำเงินส่วนนั้นไปหารายได้ให้งอกเงยขึ้นมา (อย่างน้อยๆ ก็ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารไงครับ) ทำให้บริษัทมีรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้เฮียแกเก็บภาษีจากบริษัทได้น้อยลงตามไปด้วยนั่นเอง....ส่วนวิธีการคิดการคิดดอกเบี้ยก็ ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารพาณิชย์เป็นเกณฑ์
      ท้ายสุดนายจิต ไม่รู้จะนำเงินจากไหนมาจ่าย ก็ดอกเบี้ยที่คำนวณได้ตั้ง 450,000 บาท.....! (9,000,000 * 5%) ทำให้ยอดรายได้เพิ่ม และก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เเต่เงินที่มีอยู่ในบริษัทก่อนหน้านี้ก็ใช้ดำเนินงานไปจนไม่เหลือหรอ แถมจนป่านยังเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้สักบาท เลยต้องไปหากู้เงินมาจ่ายภาษีแทนบริษัท ครั้นจะบอกความจริง กับเฮียแก ก็กลัวว่าจะโดนเฮียแกแจ้งจับ ข้อหาแจ้งความเท็จต่อทางราชการ (กระทรวงพาณิชย์) ที่มีโทษทั้งจำและปรับ หรือถ้าจะปิดบริษัทหนี งานนี้มีหวังโดนหนักกว่าเดิมครับ เพราะนอกจากจะโดนข้อหาข้างต้นแล้ว ยังจะโดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาจ่ายภาษีอีก 2 เด้งครับงานนี้ อยู่ดีๆ ก็เป็นหนี้ 2 ก้อนเลย ไหนจะหนี้จากบริษัทตัวเอง แล้วยังมีหนี้ที่ไปกู้เงินมาเพื่อจ่ายภาษีให้กับบริษัทอีก นะคนเรา...... 
“แล้วความผิดตามกฎหมาย!!......นะเขาว่ายังไงกัน”

      ต่อกันกันอีกนิดสำหรับเรื่องหุ้นลม ว่าชะตาชีวิตของนายจิตจะเป็นอย่างไรต่อไปหลังจากที่ต้องเป็นลูกหนี้เงินกู้ ยืมกรรมการไปแล้ว นายจิตได้ตั้งข้อสังเกตว่าแล้วสามารถ ใช้วิธีทางการบัญชีโดยสร้างค่าใช้จ่าย ให้เกิดขึ้น แล้วล้างบัญชีลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการออกไป ก็ได้นี่ อันนี้ก็ทำได้ครับ(แถมเป็นที่นิยมอีกต่างหาก) แต่ขอบอกไว้ก่อนนะครับว่าผิดกฎหมายนะ (วางแผนให้ดีอย่าให้ถูกจับได้ละ) จะไม่ผิดได้ไง....ก็สร้างหลักฐานเท็จกันเห็นๆ แถมค่าใช้จ่ายที่ต้องสร้างขึ้นก็จะเป็นจำพวก ค่าบริการ ค่าที่ปรึกษาต่างๆ ซึ่งเมื่อจ่ายเงินออกไป (แม้ไม่ได้จ่ายจริงก็ตาม) จำเป็นต้อง หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งเฮียสรรพากรแกอีกต่างหากแล้วถ้าเฮียแกจับได้อีกละว่าเป็นรายการเท็จ ......เฮ้อ ทำให้ถูกต้องซะแต่ทีแรกก็หมดเรื่องแล้ว นี่ดีนะว่าเรื่องนี้เกิดกับบริษัทของนายจิตเองเพียงคนเดียว ชื่อคนอื่นที่ใส่ไว้ก็แค่ให้ครบจำนวนเท่านั้น ถ้ามีคนอื่นมาถือหุ้นใหญ่ร่วมบริหารงานด้วยจะเป็นไงบ้างน้อ....ไม่อยากจะคิด คงวุ่นวานน่าดู
      กลับมาต่อกันในเรื่องความผิดตามกฎหมายดีกว่า สิ่งนายจิตจะต้องโดนอะไรบ้าง หลังจากที่ตัวเองต้องเป็นหนี้บริษัทเพราะความไม่รู้เรื่องของตัวเองแล้วแท้ๆ นายจิตคงไม่รู้ด้วยซ้ำครับว่าตนเองแจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ตั้ง บริษัท จะไม่ให้ผิดได้อย่างไรละครับก็ตัวมีเงินแค่ 1,000,000 บาท ดันทะลึ่งไปแจ้งว่าได้รับชำระค่าหุ้นเต็มแล้วเป็นจำนวน 10,000,000 บาท อย่างนี้ก็โดนเต็มๆ ครับ ตาม พ.ร.บ. กำหนดความผิดฯ มาตรา 15 บริษัทจำกัดใดลงพิมพ์หรือแสดงจำนวนต้นทุนของบริษัทโดยฝ่าฝืนมาตรา 1149 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท (เป็นโทษปรับบริษัท)
ส่วน ตัวนายจิตนั้นจะมีโทษตามมาตรา 25 ในกรณีที่บริษัทจำกัดใดกระทำความผิดตามมาตรา 7 ถึงมาตรา 24 กรรมการของบริษัทนั้น หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกิน 50,000 บาท

      เกิดวันดีคืน แจ็คพ็อต มีคนแอบไปแจ้งความกล่าวโทษนายจิต ว่ากระทำผิดกฎหมายละก็!...นี่ยังไม่ได้ตรวจดูอีกนะว่าบริษัท ของนายจิต ได้เคยมีการเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นภายใน 6 เดือนนับแต่จัดตั้งบริษัทและให้มีการประชุมอย่างว่าอีกอย่างน้อยปีละครั้ง หรือเปล่า....มีการจัดทำใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือเปล่า...ได้ทำบัญชีถูก ต้องหรือไม่..ฯลฯ ทุกข้อที่กล่าวมาถ้ามีการตรวจแล้วไม่กระทำมีความผิดนะครับจะหาว่าผมไม่เตือน ไม่ได้นะ
      คิดๆดูแล้วก็น่าเห็นใจผู้ประกอบการนะครับ คิดที่จะทำตัวให้เป็นพลเมืองดีที่ทำถูกต้องตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ แต่ทำไมมันถึงทำยากเย็นนักนะ แต่ถึงจะด้วย เหตุผลใดก็ตามแต่ผู้ประกอบการไทยยังคงละเลยถึงความรู้ทางด้านกฎหมาย บัญชี ภาษี การบริหารองค์กร ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นไม่แพ้เรื่อง จะขายยังไงให้ได้……ครับ

ที่มา...www.smethaiclub.com (หุ้น...ลมๆ...แล้งๆ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น