ขอนำประเด็นการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ที่มิใช่เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียว
เพราะเหตุออกจากงาน เป็นไปตามมาตรา 50 (1) วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ซึ่งอาจสรุปหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีดังกล่าวได้ดังนี้ปุจฉา ผู้จ่ายเงินที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ที่มิใช่เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ได้แก่ บุคคลใดบ้าง
วิสัชนา ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในกรณีนี้ ได้แก่ ผู้จ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งมิใช่เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ได้แก่
1. บุคคลธรรมดา
2. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั้งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
4. นิติบุคคลอื่น อาทิ มูลนิธิ สมาคม สภากาชาดไทย วัดวาอาราม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาสังคมสงเคราะห์ สภาทนายความ สภาหนังสือพิมพ์
5. รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล องค์การบริหารราชการส่วนตำบล องค์การบริการราชการส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
6. ตัวแทนของผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวข้างต้น
ปุจฉา วิธีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) กรณีจ่ายเงินได้ที่มีจำนวนเงินและจำนวน คราวในการจ่ายแน่นอน มีอย่างไร
วิสัชนา วิธีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) กรณีจ่ายเงินได้ที่มีจำนวนเงินและจำนวน คราวในการจ่ายแน่นอน มีดังนี้
1. คำนวณยอดเงินได้เสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายเต็มทั้งปีโดยให้นำเงินได้พึงประเมิน ที่จ่ายคูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายในปีภาษีนั้น “จำนวนคราวที่จะต้องจ่าย” ให้ถือปฏิบัติดังนี้
สำหรับการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งมีข้อตกลงเกี่ยวกับจำนวนเงินและจำนวนคราวในการจ่ายแน่นอน ให้ใช้จำนวนคราวที่จะต้องจ่ายจริงในปีภาษี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่เริ่มทำงานในปีภาษีจนถึงสิ้นปีภาษี ทั้งนี้ ไม่ว่าลูกจ้างรายนั้นๆ จะได้ออกจากงานในระหว่างปีภาษีหรือไม่
(1) กรณีลูกจ้างผู้มีเงินได้ทำงานกับนายจ้างผู้จ่ายเงินได้ตั้งแต่เริ่มต้นปีภาษี
(ก) สำหรับการจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน ให้ใช้ 365 คราว
(ข) สำหรับการจ่ายค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ ให้ใช้ 52 คราว
(ค) สำหรับการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน ให้ใช้ 12 คราว
(2) กรณีลูกจ้างผู้มีเงินได้เริ่มทำงานระหว่างปีภาษี ให้ใช้จำนวนคราวที่จะต้องจ่ายจริงที่เหลืออยู่ในปีภาษี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่เริ่มเข้าทำงานจนถึงสิ้นปีภาษี เช่น ลูกจ้างเข้าทำงานเมื่อวันที่ 21 เมษายน สำหรับการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนให้ใช้ 8 เศษ 1 ส่วน 3 เดือน (ระยะเวลาเต็มเดือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม เท่ากับ 8 เดือนรวมกับเศษของเดือนในเดือนเมษายน จำนวน 10 วันใน 30 วัน ซึ่งคิดเป็นหน่วยเดือนได้เท่ากับ เศษ 1 ส่วน 3 รวมเป็น 8 เศษ 1 ส่วน 3 คราว) สำหรับการจ่ายค่าจ้างเป็นรายวันตามกรณีนี้ให้ใช้ 254 คราวโดยไม่นับวันหยุด เป็นต้น (ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 16/2530)
2. นำเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งมีข้อตกลงเกี่ยวกับจำนวนเงิน และจำนวนคราวในการจ่ายแน่นอนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีตาม 1. มาหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท แล้วหักค่าลดหย่อนต่างๆ ตามที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักได้ คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าใด นำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้า โดยหักเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 470) พ.ศ.2551 จำนวน 150,000 บาท
อนึ่ง กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 96/2543 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณค่าลดหย่อนเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายดังนี้
การคำนวณหักค่าลดหย่อน ให้คำนวณตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งไว้พร้อมกับแนบสำเนาหลักฐานแสดงสิทธิใน ค่าลดหย่อนตามแบบ ล.ย.01 (แบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อน) ทั้งนี้ ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนได้ตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่เริ่ม หักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะจ่ายค่าลดหย่อนนั้นในเดือนใดของปีก็ตาม เว้นแต่ค่าลดหย่อนเงินบริจาคให้คำนวณหักได้เมื่อมีการจ่ายเงินบริจาคจริง เท่านั้น
กรณีผู้มีเงินได้ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงรายการค่าลดหย่อนระหว่างปี ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น
3. เมื่อคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีตาม 2. ได้เป็นเงินทั้งสิ้นเท่าใด ให้นำมาหารด้วย “จำนวนคราวที่จะต้องจ่าย” จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวน ภาษีเงินได้ที่ต้องหักไว้ในแต่ละคราว หากผลลัพธ์ที่ได้จากการหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายไม่ลงตัว เหลือเศษเท่าใด ให้เพิ่มเงินเท่าที่เหลือเศษนั้นรวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหักไว้ครั้งสุด ท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่ากับจำนวนภาษีที่จะต้องเสียทั้งปี
(14 เมษายน 2553)
ปุจฉา วิธีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งที่มีจำนวนเงิน และจำนวนคราวในการจ่ายที่แน่นอน และที่มีจำนวนเงินและจำนวนคราวในการจ่ายไม่แน่นอน มีอย่างไร
วิสัชนา วิธีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าวมีดังนี้
1. ให้คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับกรณีการจ่ายเงินได้ที่มีจำนวนเงิน และจำนวนคราวในการจ่ายแน่นอน ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการตามมาตรา 50 (1) วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ดังกล่าวข้างต้น
2. ให้นำเงินได้พึงประเมินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีของทั้งกรณีเงินได้ที่ จำนวนเงิน และจำนวนคราวในการจ่ายที่แน่นอนตาม 1. และเงินได้ที่จำนวนเงินและจำนวนคราวในการจ่ายไม่แน่นอนมารวมกันเป็นเงินได้ ที่ต้องคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายทั้งสิ้นแล้ว คำนวณภาษีเงินได้ โดยให้คำนวณหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท แล้วหักค่าลดหย่อนต่างๆ ตามที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักได้ คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าใด นำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้า โดยหักเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551 จำนวน 150,000 บาท ได้จำนวนเงินภาษีเท่าใดให้นำจำนวนภาษีเงินได้สำหรับกรณีการจ่ายเงินได้ที่มี จำนวนเงิน และจำนวนคราวในการจ่ายแน่นอนทั้งสิ้นตาม 1. (ถ้ามี) มาหักออก เหลือเท่าใดเป็นเงินภาษีที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้ที่จำนวนเงิน และจำนวนคราวในการจ่ายไม่แน่นอน
3. ให้หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ตามจำนวนที่คำนวณได้ใน 1. และ 2. รวมกันเพื่อการนำส่งภาษีตามมาตรา 52 ประกอบมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อไป
ปุจฉา กรณีมีการเปลี่ยนแปลง "เพิ่ม" หรือ "ลด" ค่าจ้างที่มีจำนวนเงินและจำนวนที่จ่ายแน่นอนในระหว่างปีภาษี มีวิธีการคำนวณภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย อย่างไร
วิสัชนา กรณีดังกล่าว ให้คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ดังนี้
1. คำนวณเงินได้พึงประเมินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายเต็มทั้งปี โดยนำเงินได้ที่จ่ายจริงในครั้งก่อนๆ รวมกับจำนวนเงินได้ที่คำนวณได้ จากยอดค่าจ้างที่เปลี่ยนแปลง คูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายต่อไปสำหรับค่าจ้างที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาทิเช่น ในเดือนมกราคม บริษัท ก. จำกัด ได้จ่ายเงินเดือนประจำให้แก่ นาย ข. เดือนละ 22,000 บาท ต่อมาในเดือนตุลาคม บริษัทได้เพิ่มเงินเดือนให้นาย ข. เป็นเดือนละ 25,000 บาท เช่นนี้ เงินได้พึงประเมินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายเต็มทั้งปี เพื่อการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะเป็นดังนี้
- สำหรับเดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน เท่ากับ (22,000 บาท คูณด้วย 12 เดือน) 264,000 บาท แล้วคำนวณเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
- สำหรับเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม เท่ากับ (22,000 บาท คูณด้วย 9 เดือน) 198,000 บาท บวกด้วย (25,000 บาท คูณด้วย 3 เดือน) 75,000 บาท รวมเป็น 273,000 บาท แล้วคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากเงินได้ดังกล่าว
2. คำนวณภาษีเงินได้จากยอดเงินได้พึงประเมินตาม 1. ได้เป็นเงินภาษีเท่าใด ให้นำจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ได้หักไว้จริงสำหรับการจ่ายเงินได้คราวก่อนๆ มาหักออกคงเหลือเท่าใด ให้นำมาหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายสำหรับค่าจ้างที่เปลี่ยนแปลง กรณีการหารไม่ลงตัวเหลือเศษเท่าใด ให้เพิ่มเงินเท่าที่เหลือเศษนั้นรวมเข้ากับเงินภาษี ที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่ากับจำนวนภาษีที่จะต้องเสียทั้งปี
ปุจฉา กรณีมีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าใช้จ่าย หรืออัตราหรือจำนวนค่าลดหย่อนในระหว่างปีภาษี มีวิธีการคำนวณภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย อย่างไร
วิสัชนา กรณีดังกล่าว ให้คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ดังนี้
1. คำนวณภาษีเงินได้จากยอดเงินได้สุทธิใหม่ โดยนำยอดเงินได้พึงประเมินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปีตามหลักเกณฑ์ข้างต้น หักด้วยค่าใช้จ่าย และหรือค่าลดหย่อนตามอัตราภาษีใหม่
2. ได้เป็นเงินภาษีเท่าใด ให้นำจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ได้หักไว้จริงสำหรับการจ่ายเงินได้คราวก่อนๆ มาหักออก คงเหลือเท่าใด ให้นำมาหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายสำหรับงวดที่มีการเปลี่ยนแปลงค่าใช้ จ่าย และหรือค่าลดหย่อน หากผลลัพธ์ที่ได้จากการหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายไม่ลงตัว เหลือเศษเท่าใด ให้เพิ่มเงินเท่าที่เหลือเศษนั้นรวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหักไว้ครั้งสุด ท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่ากับจำนวนภาษีที่จะต้องเสียทั้งปี
(28 เมษายน 2553)
ปุจฉา การคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีผู้จ่ายเงินได้ออกเงินค่าภาษีแทนให้ผู้มีเงินได้ มีวิธีการคำนวณภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร
วิสัชนา กรณีดังกล่าว มีวิธีการคำนวณภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้
1. กรณีนายจ้างออกเงินค่าภาษีเงินได้แทนให้ลูกจ้างสำหรับเงินเดือน หรือค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในปีภาษีใด โดยลูกจ้างไม่ต้องรับภาระในการเสียภาษีเงินได้ด้วยตนเองเลย ให้นำค่าภาษีเงินได้ที่นายจ้างออกแทนให้ไปรวมกับเงินเดือน หรือค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในปีภาษีนั้น แล้วคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 50 (1) วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้คำนวณหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท แล้วหักค่าลดหย่อนต่างๆ ตามที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักได้ คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าใด นำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้า โดยหักเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 470) พ.ศ.2551 จำนวน 150,000 บาท แล้วคำนวณซ้ำอีกสำหรับจำนวนเงินภาษีที่นายจ้างหรือผู้จ่ายเงินออกให้เพิ่ม ขึ้น จนกว่าจะไม่มีเงินค่าภาษีเงินได้ที่นายจ้างต้องออกแทนให้อีก
อย่างไรก็ตาม เพื่อความสะดวกในการคำนวณภาษีเงินได้ดังกล่าว นายจ้างซึ่งเป็นผู้จ่ายเงิน หรือลูกจ้างอาจใช้ตารางการคำนวณภาษีเงินได้ที่กรมสรรพากรจัดทำขึ้นซึ่งจะได้ ผลเท่ากัน และลูกจ้างไม่ต้องรับภาระในการเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมในการคำนวณภาษีเงิน ได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวในปีภาษีนั้นอีก
2. กรณีนายจ้างออกเงินค่าภาษีเงินได้แทนให้ลูกจ้าง สำหรับเงินเดือนหรือค่าจ้าง เป็นจำนวนที่แน่นอน เช่น เท่ากับจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ นำส่งไว้แล้ว ให้นำเงินค่าภาษีเงินได้ที่นายจ้างออกแทนให้ไปรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ที่ลูกจ้างได้รับในปีภาษีนั้น แล้วคำนวณภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ในมาตรา กรณีดังกล่าวถ้ามีภาษีจะต้องเสียเพิ่มเติม ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษีนั้นลูกจ้างต้องรับภาระในการ เสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมนั้นด้วยตนเอง
3. หลักเกณฑ์ใน 1. และ 2. ดังกล่าวข้างต้น ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่นายจ้าง หรือผู้จ่ายเงิน หรือผู้อื่นที่ออกเงินค่าภาษีอากรแทนให้ผู้มีเงินได้สำหรับเงินได้ ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ทุกประเภท (คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 7/2528)
ปุจฉา การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ที่จ่ายในเดือนสุดท้ายที่ผู้มีเงินได้ออกจากงานระหว่างปี มีอย่างไร
วิสัชนา กรณีดังกล่าว ให้คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ดังนี้
ให้ ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีสิทธิที่จะคำนวณภาษี เพื่อให้เงินภาษีที่หักไว้ถูกต้องครบถ้วนตามรายการค่าลดหย่อนที่แท้จริงตาม หลักฐานที่ผู้มีเงินได้นำมาแสดง โดยนำเงินภาษีที่หักไว้ไม่ครบถ้วนหรือเกินในเดือนก่อนๆ มารวมหรือหักกับภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายไว้ครั้งสุดท้ายนั้นได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใด ให้หักและนำส่งไว้เท่านั้น (ข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 96/2543)
ปุจฉา กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร มีวิธีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย อย่างไร
วิสัชนา กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ไม่ว่าจะทำงานอยู่กับนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินได้คนเดียวกันหรือไม่ก็ตาม ให้ผู้จ่ายเงินได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทุกกรณี
ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นค่าจ้างแรงงานรายวัน อย่างไร
วิสัชนา กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นค่าจ้างแรงงานรายวันตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ผู้จ่ายเงินได้อาจทำความตกลงกับกรมสรรพากร เพื่อขอหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งในอัตราร้อยละ 3 ของยอดค่าจ้างแรงงานที่จ่ายทั้งสิ้นในแต่ละเดือน โดยไม่ต้องแสดงรายละเอียดในแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1 ก.
1. มีลูกจ้าง หรือคนงานจำนวนมาก และมีการเข้าออกอยู่เสมอเนื่องจากการจ้างงานไม่แน่นอน เช่น การจ้างงานตามฤดูกาล การจ้างคนงานก่อสร้าง เป็นต้น
2. ลูกจ้างแต่ละคนมีที่อยู่ไม่แน่นอน และผู้จ่ายเงินได้ไม่ทราบสถานภาพการหักค่าลดหย่อนของลูกจ้างเพื่อการคำนวณ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
3. ลูกจ้างแต่ละคนได้รับค่าจ้างแรงงานรายวันไม่เกินวันละ 150 บาท
(5 พฤษภาคม 2553)
ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น