ทุนจดทะเบียนที่ดีต้องมีการวางแผน

       โดยปกติกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจและต้องการจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดนั้น ย่อมต้องกำหนดทุนของบริษัทขึ้นมาตั้งแต่ตอนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ หากแต่ท่านทราบหรือเข้าใจคำว่า “ทุนจดทะเบียน” และ “ทุนเรียกชำระ” หรือไม่ว่ามีความแตกต่างกันเพียงใด และจะมีผลกระทบกับบริษัทของท่านอย่างไรหากขาดการวางแผนที่ดี

       คำว่า “ทุนจดทะเบียน” นั้นคือ ทุนของบริษัทตามที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือบริคณฑ์สนธิ โดยจะแบ่งเป็นจำนวนหุ้น และราคาต่อหุ้น หรือ ที่เรียกว่าราคาพาร์ ส่วนคำว่า “ทุนเรียกชำระ” คือ เงินที่ได้เรียกชำระจากผู้ถือหุ้นแล้ว ซึ่งอาจจะน้อยกว่าหรือเท่ากับ จำนวนทุนจดทะเบียนก็ได้ โดยตามกฎหมายได้กำหนดว่าจะต้องเรียกชำระค่าหุ้นไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน เช่น บริษัท ทุนเหลือเฟือ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นจำนวน 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ผู้ถือหุ้นทั้งหมดต้องชำระค่าหุ้นขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 250,000 บาท หรือ ไม่น้อยกว่าหุ้นละ 25 บาทนั่นเอง

       จำนวนหุ้นและเงินที่ชำระแล้วต่อหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคนนั้น เราสามารถดูได้จากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ แบบ บอจ.5 ที่นำส่งไว้กับกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ตอนจดทะเบียนบริษัท แต่ปัญหาก็คือ บางบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่อาจไม่ทราบข้อกำหนดดังกล่าว จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามแต่ ท่านอาจลงรายการในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามทุนจดทะเบียน ซึ่งเสมือนหนึ่งว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า ปัญหาที่ตามมาประการแรกก็คือ เป็นการให้ข้อมูลเท็จต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบันทึกบัญชีและการคำนวณภาษีเงินได้อีกทอดหนึ่ง

       มองภาพง่าย ๆ ก็คือ ถ้าบริษัท ทุนเหลือเฟือ จำกัด ลงรายการในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า มีเงินชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า 1 ล้านบาท แต่ความเป็นจริงได้มีการชำระค่าหุ้นเพียงแค่ 250,000 บาท เป็นต้น เท่ากับว่าเงินส่วนที่เหลืออีก 750,000 ได้หายออกไปจากบัญชี ในแง่ของการทำบัญชีอาจต้องปรับปรุงรายการ โดยการถือเสมือนว่าผู้ถือหุ้นได้กู้ยืมเงินไปจากบริษัท แต่ในแง่ของกรมสรรพากรจะไม่เพียงแค่เสมือนว่า มีการกู้ยืมเงินไปจากบริษัทเท่านั้น แต่ถือเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสินทรัพย์ที่ต้องคิดค่าตอบแทนหรือคำนวณดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมดังกล่าวด้วย

       ท่านเอสเอ็มอีคงเริ่มเห็นความยุ่งยากที่ตามมาเพราะการคำนวณดอกเบี้ยรับเข้าไปในงบการเงินย่อมหมายถึงการเพิ่มฐานกำไรสุทธิในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือถึงแม้ว่า เราจะไม่ปรับปรุงรายการเข้าไปในงบการเงินแต่ในการคำนวณภาษีก็ยังคงต้องปรับเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยรับเข้าไปอยู่ดี

       ดังนั้น ก่อนที่ท่านจะเริ่มจดทะเบียนบริษัท จึงควรวางแผนเกี่ยวกับทุนจดทะเบียนให้ดีเสียก่อนว่า ระดับทุนเท่าใดที่เพียงพอกับการประกอบธุรกิจและผู้ถือหุ้นมีความสามารถชำระค่าหุ้นได้ และ ควรแจ้งข้อมูลที่เป็นจริงแก่กระทรวงพาณิชย์ในการนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาทุนเกินเงิน ดังที่กล่าวมาแล้ว
       อย่างไรก็ตาม ท่านเอสเอ็มอี ที่ได้ประสบปัญหาดังกล่าวอยู่ ก็ยังพอมีทางเลือกให้ปฏิบัติอยู่บ้าง ได้แก่

       • การลดทุนจดทะเบียนให้เท่ากับทุนที่มีอยู่จริง
       • เรียกชำระค่าหุ้นให้ครบจำนวนตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
       • คำนวณดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืม โดยรวมคำนวณเป็นรายได้ดอกเบี้ยรับเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

       ทางเลือกที่ 3 ออกจะเป็นทางเลือกที่ไม่น่าเลือกเท่าไรเพราะดูเหมือนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่บริษัทของเราเลย อีกทั้งยังต้องเสียภาษีโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ดังนั้น แนะนำว่าท่านเอสเอ็มอี ควรวางแผนให้ถูกต้องตั้งแต่แรกจะเป็นการดีที่สุด


* * * บทความโดย : ดุลวรรณ์ สกุลดี * * *

ที่มา..ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น