ตามที่รัฐบาลออก นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและธุรกิจท่องเที่ยวนั้น
บัดนี้ได้ทยอยออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องจนครบถ้วนแล้ว จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้ปุจฉา ขอให้ทบทวนนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและธุรกิจท่องเที่ยว ที่รัฐบาลได้เคยแถลงไว้ตามมติ ครม.
วิสัชนา เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่ประชุม ครม. ได้มีมติดังนี้
1. ให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ซื้อแพ็คเกจทัวร์จากบริษัททัวร์เพียง กรณีเดียวเท่านั้น โดยนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี โดยมาตรการนี้มีผลระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2553 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553
2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดแสดงสินค้า นิทรรศการ และออกบูธที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศ สามารถนำรายจ่ายส่วนนั้นมาหักภาษีได้ 2 เท่า โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 นอกจากนี้ ยังกำหนดให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวสามารถนำรายจ่ายจากการจัดอบรมสัมมนา ลูกจ้างที่เป็นการจัดสัมมนาภายใน มาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า โดยเป็นรายจ่ายของส่วนห้องพัก ห้องสัมมนา ค่าจัดการ ค่าขนส่ง ที่ได้จ่ายให้แก่ธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและ มัคคุเทศก์เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2553
3. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ได้ซื้อทรัพย์สิน ที่ใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะ โดยให้มีสิทธิหักค่าเสื่อมได้ 60% ของมูลค่าต้นทุน ในวันที่ได้มาซึ่งทรัพย์สิน โดยให้มีผลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554
4. สิทธิประโยชน์ในการหักค่าเสื่อมราคาของรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่ นั่งไม่เกิน 10 คน ซึ่งได้ซื้อมาเพื่อประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์ ซึ่งเดิมหักค่าเสื่อมราคาได้จากต้นทุนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยจะปรับมูลค่าต้นทุนให้หักค่าเสื่อมราคาได้เต็มมูลค่าต้นทุนทั้งหมดของ ราคารถยนต์ดังกล่าวที่ได้ซื้อมา และในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวได้เช่ารถยนต์ดังกล่าวมาเพื่อให้เช่า ต่อไปก็จะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยแต่เดิมหักรายจ่ายได้ไม่เกินประมาณ 36,000 บาทต่อเดือนต่อการเช่ารถยนต์ โดยจะปรับให้หักค่าเช่าได้ทั้งจำนวน
5. มาตรการภาษีเกี่ยวกับการประกันภัย โดยกำหนดให้บริษัทประกันภัยสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการจ่ายเงินทดแทน ที่จ่ายให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ชุมนุมมาหักเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิในการเสียภาษี รวมทั้งให้ยกเว้นภาษี จากค่าสินไหม หรือเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยในส่วนที่เกินจากมูลค่าทรัพย์สินที่ เสียหายด้วย
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายจ่ายค่าซื้อ แพ็คเกจทัวร์จากบริษัททัวร์ อย่างไร
วิสัชนา กำหนดให้มีผลตั้งแต่วันที่ เป็นไป ดังนี้ กำหนดให้ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่ากับ จำนวนเงินที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมาย ว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะค่าบริการหรือค่าที่พักที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2553 จนถึง 31 ธันวาคม 2553 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 278 (พ.ศ. 2553) ลงวันที่ 30 กันยายน 2553
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 187) ดังนี้
1. เป็นผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
2. กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีมีคู่สมรส
(1) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีให้แก่สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่ผู้มีเงิน ได้ได้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
(2) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ โดยความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี และภริยาจะใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ก็ตาม ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวน ที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินคนละ 15,000 บาท ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวน ที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินคนละ 15,000 บาท
3. ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการรับเงินจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมโดยระบุชื่อผู้มีเงินได้ จำนวนเงิน วัน เดือน ปี ที่จ่ายเงิน
ที่มา..กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น