เงินได้จากการตรวจรักษาผู้ป่วย ถือเป็นเงินได้ตามมาตราไหน

เงินได้จากการตรวจรักษาผู้ป่วยที่แพทย์ได้รับ ถือเป็นเงินได้ประเภทค่าจ้าง หรือเงินได้จากรับทำงานให้ หรือเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ต้องดูวิธีการที่ได้รับเงินได้มา ถ้าทำงานในฐานะลูกจ้างของโรงพยาบาลก็ถือเป็นเงินเดือนค่าจ้าง ตามมาตรา 40(1) ถ้าไม่ได้เป็นลูกจ้างแต่มาทำงานพิเศษนอกเวลา ก็ถือเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) แต่ถ้าเป็นการเปิดคลีนิคเอง หรือตกลงทำสัญญาเพื่อขอใช้สถานที่กับโรงพยาบาลแบบนี้ ถึงจะเป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ตามมาตา 40(6) ลองมาดูที่สรรพากรตอบไว้นะครับ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/1703

วันที่ : 4 มีนาคม 2553

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1) มาตรา 40(2) และมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
          นาย ก. ได้รับเงินเดือนและได้รับเงินจากการตรวจรักษาผู้ป่วยที่ คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการของโรงพยาบาล โดยมี หนังสือข้อตกลงการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งแพทย์เป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาจากผู้ ป่วยและมีการตกลงแบ่งรายได้จากค่าตรวจ รักษาให้โรงพยาบาลตามอัตราส่วนที่กำหนด เงินรายได้จากการตรวจรักษาผู้ป่วยที่คลินิก พิเศษนอกเวลาราชการดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้มีเอกสารรับรองเป็นค่าตอบแทนจากการประกอบ วิชาชีพอิสระ ตาม มาตรา 40(6) แห่ง ประมวลรัษฎากร ซึ่งนาย ก.ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2551 แล้ว แต่เมื่อเดือนกันยายน 2552 นาย ก. เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ก.จึงขอทราบว่า เงินได้จากการตรวจผู้ป่วยในคลินิกพิเศษนอก เวลาราชการเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด

แนววินิจฉัย
          1. หากค่าตอบแทนที่แพทย์ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน ค่า ตอบแทนดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่างานที่ปฏิบัตินั้นจะใช้วิชาการทางการประกอบ โรคศิลปะอันเป็นวิชาชีพอิสระก็ตาม และเงินได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน หมายรวมถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้รับ เนื่องจากการจ้างแรงงาน
          2. หากค่าตอบแทนที่แพทย์ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือ ตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ซึ่งรวมถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้ ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรืองานที่ รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร
          3. สำหรับค่าตอบแทนที่แพทย์ได้รับ ซึ่งจะถือเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องปรากฏว่าแพทย์ได้เปิดคลินิกรักษาคนไข้เป็นการส่วนตัว หรือแพทย์ทำสัญญาหรือ ตกลงกับสถานพยาบาลเพื่อขอใช้สถานที่ เครื่องมือและ อุปกรณ์เพื่อประกอบโรคศิลปะในนามของแพทย์ เพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วยโดย แพทย์เป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาเองและมีข้อตกลงแบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ ได้รับจากผู้ป่วยให้แก่สถานพยาบาลเป็นลายลักษณ์อักษร หรือแพทย์ทำสัญญาหรือตกลงกับ สถานพยาบาลเพื่อขอใช้สถานที่เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อประกอบโรคศิลปะในนาม ของแพทย์เพื่อ ตรวจและรักษาผู้ป่วย และมี ข้อตกลงแบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วย โดยสถานพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาแทนแพทย์ แล้วนำมาจ่ายให้กับแพทย์เพื่อแบ่งรายได้ให้สถานพยาบาล เงินได้ที่แพทย์เรียกเก็บจากผู้ป่วยทั้งจำนวนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เฉพาะส่วนแบ่งที่เหลือหลังจากหักส่วนแบ่งของสถานพยาบาลออก
          กรณีตามข้อเท็จจริง หากนาย ก.ทำสัญญาหรือข้อตกลงกับ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อขอใช้สถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อประกอบโรคศิลปะในนามของนาย ก. เพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วย และมีข้อตกลงแบ่งค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วย โดย มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาแทนนาย ก. แล้วนำมาจ่ายให้กับนาย ก. เพื่อ แบ่งรายได้ให้มหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป เงินได้ที่นาย ก.เรียกเก็บจากผู้ป่วยทั้งจำนวนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวล รัษฎากร มิใช่เฉพาะ เงินส่วนแบ่งที่เหลือหลังจากหักส่วนแบ่งของมหาวิทยาลัยมหิดลออกแล้ว

เลขตู้ : 73/37159

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น