การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.104/2544

เรื่อง   การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณี การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร

---------------------------------------------

                เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาเกี่ยวกับการ เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่าง ประเทศตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

                ข้อ 1   กรณีผู้ประกอบการซึ่งได้ให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการ นั้นในราชอาณาจักร ถือว่าการให้บริการนั้นเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/13 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดหรือบางส่วนเกิดขึ้นเมื่อได้ มีการชำระราคาค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วนตามมาตรา 78/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณจากฐานภาษีตามมาตรา 79 และอัตราภาษีตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร

                ข้อ 2   การให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศได้กระทำขึ้นในต่างประเทศ และผู้รับบริการในราชอาณาจักรได้นำผลของการกระทำนั้นมาใช้ในราชอาณาจักร

                        กรณีผู้ประกอบการในต่างประเทศได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าที่ไม่มีรูปร่างให้กับ ผู้ประกอบการหรือบุคคลใดในราชอาณาจักรไม่ถือเป็น การให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตาม มาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง ตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร

                        การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามวรรคสอง เช่น การโอนกรรมสิทธิ์สิทธิในสิทธิบัตร การโอนกรรมสิทธิ์ในกู๊ดวิลล์ การโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า การโอนกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ การโอนกรรมสิทธิ์ในสัมปทาน การโอนกรรมสิทธิ์ในค่าสิทธิ หรือการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

                        กรณีผู้ประกอบการในต่างประเทศได้ให้ผู้ประกอบการหรือบุคคลใดใน ราชอาณาจักรได้ใช้สิทธิในสิทธิบัตร ได้ใช้กู๊ดวิลล์ ได้ใช้เครื่องหมายการค้า ได้ใช้ลิขสิทธิ์ ได้ใช้สัมปทาน ได้ใช้ค่าสิทธิ หรือได้ใช้สินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน โดยผู้ประกอบการใน ต่างประเทศยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิทธิในสิทธิบัตร กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สัมปทาน ค่าสิทธิ หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ไม่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักรตามมาตรา 77/2 วรรคสาม และมาตรา 77/5 แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีผู้ประกอบการในต่างประเทศรับจ้างเขียนซอฟต์แวร์ให้กับผู้ประกอบการหรือ บุคคลใดซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างในราชอาณาจักร โดยผู้ว่าจ้างในราชอาณาจักรยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ดังกล่าว ไม่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักรตามมาตรา 77/2 วรรคสาม และมาตรา 77/5 แห่งประมวลรัษฎากร

                ข้อ 3   กรณีผู้รับบริการในราชอาณาจักรจ่ายเงินค่าบริการให้กับผู้ประกอบการตามข้อ 1 ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสีย ภาษีตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้จ่ายเงินต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้กับผู้ ประกอบการตามมาตรา 83/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

                        ตัวอย่าง

                        (1) บริษัท ก จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ดำเนินการ ให้คำปรึกษาและแนะนำด้านการบริหาร การจัดการ การวางแผน กฎหมาย การเงิน การตลาดและบุคคล ซึ่งการให้บริการทั้งหมดได้กระทำในต่างประเทศและบริษัทในต่างประเทศได้จัด ส่งข้อมูลดังกล่าวผ่านทางโทรศัพท์ โทรสาร E – MAIL (ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์) และจดหมายให้กับบริษัท ก จำกัด กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ก จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (2) บริษัท ข จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าเครื่องจักรจากบริษัทในต่างประเทศเพื่อ นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปถือเป็นการให้บริการที่กระทำใน ต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท ข จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (3) บริษัท ค จำกัด ได้ทำสัญญารับจ้างออกแบบคำนวณโครงสร้างทางยกระดับโครงการแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัท ค จำกัด ได้ทำสัญญาจ้างช่วงงานคำนวณโครงสร้างบางส่วนกับบริษัทในต่างประเทศโดยบริษัท ในต่างประเทศจะดำเนินการออกแบบและ คำนวณโครงสร้างในต่างประเทศ และส่งผลของงานให้กับบริษัท ค จำกัด กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ค จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (4) บริษัท ง จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ซ่อมแซมเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต สินค้าโดยส่งเครื่องจักรไปซ่อมแซมในต่างประเทศ เมื่อบริษัทในต่างประเทศดำเนินการเรียบร้อยแล้วได้ส่งกลับมาให้บริษัท ง จำกัด ใช้ในประเทศไทย กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ง จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (5) บริษัท จ จำกัด ประกอบกิจการเกี่ยวกับสนามกอล์ฟได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ ดำเนินการออกแบบสนามกอล์ฟโดยมีการจัดทำแผนผัง รายละเอียดและงานเขียนแบบสำหรับใช้ในการก่อสร้างสนามกอล์ฟ ซึ่งบริษัทในต่างประเทศยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในงานเขียนแบบและแผนผัง อื่น ๆ เงินค่าจ้างออกแบบดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่า ตอบแทนเพื่อค่าสิทธิ กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท จ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (6) บริษัท ช จำกัด ประกอบธุรกิจถลุงโลหะ ได้ซื้อลิขสิทธิ์กรรมวิธีการผลิตจากบริษัทในต่างประเทศโดยบริษัทในต่าง ประเทศยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์กรรมวิธีการผลิต กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ช จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (7) ส่วนราชการแห่งหนึ่งทำสัญญาจัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากบริษัทในต่างประเทศ โดยบริษัทในต่างประเทศเสนอราคาค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประกอบด้วยค่าลิขสิทธิ์ ที่บริษัทในต่างประเทศยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ ค่าติดตั้ง ค่าบำรุงรักษา ค่าฝึกอบรม ค่าให้คำปรึกษา ค่าเดินทาง และค่าที่พักของพนักงาน กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ส่วนราชการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (8) บริษัท ซ จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศผลิต BROCHURE เป็นรูปภาพของโรงแรมและเย็บเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ โดยบางส่วนแจกให้ลูกค้าในประเทศไทย และบางส่วนแจกให้ลูกค้าในต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท ซ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 36) โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งหมด

                        “(9) บริษัท ฌ จำกัด ได้ทำสัญญาใช้บริการนำเสนอข้อมูลสินค้าหรือบริการผ่านอินเตอร์เน็ต หรือบริการเช่าพื้นที่บนเว็บไซท์ (Web Site) หรือบริการเช่าพื้นที่บนเซิร์ฟเวอร์ (Server) ของบริษัทในต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท ฌ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งหมด

                        (10) บริษัท ญ จำกัด ได้ทำสัญญาใช้บริการอินเตอร์เน็ต หรือบริการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet Service Provider) จากบริษัทในต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท ญ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งหมด

                        (11) บริษัท ฎ จำกัด ได้ทำสัญญาใช้บริการรับฝากเซิร์ฟเวอร์ (Data Management หรือ Co-Location) จากบริษัทในต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท ฎ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งหมด”

( แก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.116/2545 )

                ข้อ 4   การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้คำนวณจากฐานภาษีตามมาตรา 79 และอัตราภาษีตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร

                        ฐานภาษีสำหรับการให้ บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการ ซึ่งหมายความถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน

                        กรณีผู้รับบริการในราชอาณาจักรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร หรือมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับบริการในราชอาณาจักรต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินได้พึงประเมินที่ จ่ายทั้งจำนวนก่อนหักภาษีเงินได้

                        กรณีผู้รับบริการในราชอาณาจักรตกลงเป็นผู้ออกเงินค่าภาษีเงินได้แทนผู้ ประกอบการตามข้อ 1 ภาษีเงินได้ที่ออกแทนถือเป็นประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ผู้รับบริการในราชอาณาจักรต้องนำภาษีที่ออกแทนมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐาน ภาษีจนกว่าจะไม่มีเงินค่าภาษีที่ต้องออกแทนให้อีก

                ข้อ 5   กรณีผู้รับบริการในราชอาณาจักรตามข้อ 3 เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้รับบริการในราชอาณาจักรมีสิทธินำภาษีมูลค่า เพิ่มที่ได้นำส่งตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากรไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ โดยมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษีที่มีการยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่า เพิ่ม (ภ.พ.36) และได้รับใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร

                “ข้อ 6   กรณีผู้ประกอบการซึ่งได้ให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและ มิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ไม่ถือว่าการให้บริการนั้นเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/13 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินค่าบริการจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร

                        ตัวอย่าง

                        (1) บริษัท ก จำกัด ประกอบกิจการขายสินค้า ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้เป็นนายหน้าติดต่อหาลูกค้าในต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ก จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (2) บริษัท ข จำกัด ประกอบกิจการประเภทธุรกิจหลักทรัพย์ ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารในต่างประเทศ โดยบริษัท ข จำกัด ได้ว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศแห่งหนึ่งเป็นตัวแทนในการจัดหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งบริษัท ข จำกัดจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ตัวแทน ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ข จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (3) บริษัท ค จำกัด ประกอบกิจการผลิตสินค้า ได้ทำสัญญาแต่งตั้งบริษัทในต่างประเทศเป็นตัวแทนในการชำระราคาค่าสินค้าให้ แก่ผู้ขายในต่างประเทศ โดย ตัวแทนต้องจ่ายเงินทดรองแทนบริษัทฯ ไปก่อนและเรียกเก็บเงินคืนจากบริษัทฯ พร้อมกับ เรียกเก็บค่าบริการ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ค จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (4) บริษัท ง จำกัด ประกอบกิจการโรงแรม ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ดำเนินการส่งเสริมการขาย การตลาด โฆษณา และรับจองห้องพัก ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ง จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (5) สถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศรับจ้างโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์ในต่างประเทศ โดยมีรายได้จากการรับจ้างโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์จากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย สินค้าทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งมีผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าในประเทศไทยได้ว่าจ้างโฆษณาดังกล่าวด้วย ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าในประเทศไทยไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษี มูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (6) บริษัท จ จำกัด ว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศจัดทำโฆษณาลงในนิตยสารสวัสดีที่มีผู้โดยสารอ่านบน เครื่องบินซึ่งมีทั้งสายการบินในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท จ จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)

                        (7) บริษัท ฉ จำกัด ว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศลงพิมพ์โฆษณาในนิตยสาร (Magazine) ในต่างประเทศ ซึ่งมีการขายนิตยสารดังกล่าวในประเทศไทยด้วย ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราช อาณาจักร บริษัท ฉ จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)”

( แก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.116/2545 )

                ข้อ 7   กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้ให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82(1) แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่าง ประเทศ เป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศและได้ ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณอัตราภาษีตาม มาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร

                ข้อ 8   การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตาม ข้อ 7 หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าที่ไม่มีรูปร่างให้กับผู้ ประกอบการหรือบุคคลใดในต่างประเทศ ไม่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นใน ต่างประเทศตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร

                        การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามวรรคสอง เช่น การโอนกรรมสิทธิ์สิทธิในสิทธิบัตร การโอนกรรมสิทธิ์ในกู๊ดวิลล์ การโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า การโอนกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ การโอนกรรมสิทธิ์ในสัมปทาน การโอนกรรมสิทธิ์ในค่าสิทธิ หรือการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

                        กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ให้ผู้ประกอบการหรือบุคคลใดในต่างประเทศได้ใช้ สิทธิในสิทธิบัตร ได้ใช้กู๊ดวิลล์ ได้ใช้เครื่องหมายการค้า ได้ใช้ลิขสิทธิ์ ได้ใช้สัมปทาน ได้ใช้ค่าสิทธิ หรือได้ใช้สินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิทธิในสิทธิบัตร กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สัมปทาน ค่าสิทธิ หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ไม่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/5 และมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนรับจ้างเขียนซอฟต์แวร์ให้กับผู้ประกอบการหรือ บุคคลใดซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างในต่างประเทศโดยผู้ว่าจ้างในต่างประเทศยังคงเป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ดังกล่าว ไม่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นใน ต่างประเทศตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/5 และมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร

สั่ง ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา..กรมสรรพากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น