การนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาใช้เพื่อการประกอบกิจการ

การนำสินค้าที่ไว้เพื่อขาย เช่น รถยนต์ หรือ เครื่องจักร นำมาใช้งานเองในบริษัท เช่น นำรถยนต์ มาไว้ให้ลูกค้าทดลองขับ หรือเครื่องจักร นำไปสาธิตวิธีการใช้ให้ลูกค้าดู เป็นต้น แบบนี้ทรัพย์สินดังกล่าว ได้รับการยกเว้นไม่ถือเป็นรายได้ และไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

เลขที่หนังสือ : กค 0702/398

วันที่ : 13 มกราคม 2554

เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาใช้เพื่อการประกอบกิจการ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1(8)(ง) มาตรา 65 ทวิ (2) มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1) และ (ฉบับที่ 2)ฯ

ข้อหารือ
บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการผลิต ซื้อขายเครื่องจักร และอะไหล่เครื่องจักร รวมทั้งการให้บริการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องจักร ในปี 2550 บริษัทฯ นำเข้าเครื่อง SHOT HANGER BLASTING รุ่น SHB-II จากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นมาเป็นสินค้าไว้เพื่อขาย จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 2,530,557.82 บาท ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2552 บริษัทฯ ได้นำเครื่องจักรดังกล่าวมาใช้ในการประกอบกิจการโดยใช้เป็นเครื่องจักรตัวอย่างให้ลูกค้าทดสอบการทำงานของเครื่อง โดยบริษัทฯ ได้โอนเครื่องจักรดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทฯ และคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินในอัตราร้อยละ 10.0 ต่อปี บริษัทฯ จึงขอหารือดังนี้
   1. บริษัทฯ ต้องนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาใช้เพื่อการประกอบกิจการดังกล่าวมาถือเป็นภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ และต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบหรือไม่ อย่างไร
   2. บริษัทฯ มีสิทธินำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของสินค้าดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ อย่างไร
   3. การนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานยืนยันการอนุมัติหรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย
1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ นำเครื่องจักรที่มีไว้เพื่อขายมาใช้ในการประกอบกิจการ โดยใช้เป็นตัวอย่างเพื่อให้ลูกค้าทดสอบการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งบริษัทฯ ได้โอนเครื่องจักรดังกล่าวมาเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทฯ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ซึ่งไม่ถือเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และให้บริษัทฯ ตัดบัญชีออกจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ นำเครื่องจักรที่มีไว้เพื่อขายมาใช้ในการประกอบกิจการและได้โอนมาเป็นสินทรัพย์ถาวรของบริษัทฯ เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่เป็นสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย และถือเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้คำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้ตามมาตรา 65 ทวิ(2) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

3. กรณีตาม 3. ประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดให้บริษัทฯ จัดทำหลักฐานเพื่อยืนยันการอนุมัติการนำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายไว้ การจัดทำหลักฐานดังกล่าวขึ้นอยู่กับระเบียบของบริษัทฯ เอง

เลขตู้  : 73/37104

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น