ภาษีคณะบุคคล

  • คณะบุคคล และห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน เสียภาษีอยู่ในกลุ่มของบุคคลธรรมดา (ยื่นแบบ ภงด.90)
  • ปัจจุบันมีกฎหมายที่อยู่ระหว่างพิจาณาว่า ที่จะให้คณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญ เสียภาษีในอัตรา 20% ของรายรับ (ก่อนหักรายจ่ายใดๆ)

ภาษีคณะบุคคล ตอนที่ 1

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากรนั้น นอกจากผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา รวมทั้งผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี และกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่งแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้ผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากรมิได้กำหนดคำนิยามคำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ไว้อย่างไร การจัดตั้งจึงกระทำได้โดยสัญญา ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ดังนั้น การประกอบกิจการร่วมกันในฐานะของคณะบุคคลตามประมวลรัษฎากรจะต้องเป็นกรณีที่ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน โดยใน การประกอบกิจการในฐานะคณะบุคคลนั้นจะต้องร่วมกันประกอบกิจการตามความเป็น จริงและร่วมกันรับผิดชอบในกิจการของคณะบุคคลนั้น และเงินได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการจะต้องเป็นของคณะบุคคลด้วย

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรได้เคยวินิจฉัยถึงความแตกต่างของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่ นิติบุคคลกับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลในส่วนที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ คือ การมีวัตถุประสงค์ที่จะหากำไรและแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการอัน เป็นเงื่อนไขสำคัญของห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่คณะบุคคลไม่มี

คณะบุคคล มีสิทธิประกอบกิจการใดก็ได้ เว้นแต่โดยสภาพของหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำนั้นคณะบุคคลไม่อาจกระทำได้ เช่น การรับจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น
คณะ บุคคลเป็นหน่วยภาษีที่ถูกกำหนดขึ้นตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้ครอบคลุมการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีบุคคลตั้งแต่สองคน ขึ้นไป ตกลงกระทำกิจการร่วมกัน โดยให้ผู้จัดการหรือผู้อำนวยการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อ ของห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลนั้น จากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้น เสมือนเป็นบุคคลเดียวไม่มีการแบ่งแยก

ทั้งนี้ ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคน ไม่ต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสีย ภาษีอีก (มาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร)
นอกจากนี้ เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลในคณะบุคคลได้รับจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เฉพาะส่วนที่เกิดจากเงินได้ที่ได้เสียภาษีเงินได้ไว้ดังกล่าวให้ผู้มีเงิน ได้ได้รับยกเว้นภาษี (มาตรา 42(14) แห่งประมวลรัษฎากร)

าษีคณะบุคคล ตอนที่ 2

การจัดตั้งคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เพื่อการประกอบกิจการนั้น จะเป็นเสรีภาพตามกฎหมายที่กลุ่มบุคคลจะกระทำการได้ แต่ก็มีขอบเขตหรือโดยพื้นฐานแล้วควรเป็นไปโดยสุจริต และมีการประกอบกิจการจริง มิใช่เป็นไปเพื่อการทุจริตหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือทำให้ไม่ต้องเสียภาษีอากร และหากภายหลังมีการตรวจสอบพบว่า ไม่อยู่บนพื้นฐานดังกล่าว กรมสรรพากรอาจทำการประเมินย้อนหลัง และเสียหายไม่คุ้มกับจำนวนภาษีที่ประหยัดได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ทำการตรวจสภาพกิจการของ คณะบุคคล พบว่า มีการจัดตั้งคณะบุคคลจำนวนหกคณะ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ประกอบกิจการประเภทเดียวกัน และมีผู้จัดการคณะบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน คณะบุคคลฯ ทั้งหกคณะประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง โดยมีนาย จ. เป็นผู้จัดการคณะบุคคล ในปี 2548 คณะบุคคลทั้งหกคณะได้เข้าทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับบริษัท ก. จำกัด ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง จำนวน 10 หน่วย มูลค่างานเป็นเงิน 9,500,000 บาท ซึ่ง มีผลทำให้แต่ละคณะมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (รายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท)

แต่โดยที่มีการทำสัญญาฉบับเดียวกันและมีผู้ว่าจ้างรายเดียวกัน จึงเป็นกรณีที่คณะบุคคลทั้งหกคณะมีเจตนาร่วมกันในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว แม้ว่าในรายละเอียดการเบิกเงินตามเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างจะมี การระบุรายละเอียดงานและจำนวนเงินงวดตามคณะบุคคล แต่สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเป็นสัญญาที่ตกลงจ้างคณะบุคคลทั้งหกคณะ มิได้กำหนดว่าจ้างเป็นรายคณะบุคคลและการดำเนินการก่อสร้างก็ไม่อาจแบ่งแยก เนื้องานได้อย่างชัดเจนประกอบกับข้อสัญญาในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระบุการ จ่ายค่าจ้างเป็นรายงวดของงานที่ทำเสร็จให้แก่ผู้รับจ้างคิดเป็นมูลค่ารวมมิ ได้แบ่งแยกแต่อย่างใด

ดังนั้น คณะบุคคลทั้งหกคณะดังกล่าวจึงต้องเสียภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคลเพียงคณะ เดียวหรือในนามห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล และเนื่องจากการรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเป็นการให้บริการที่มีมูลค่าของฐาน ภาษีเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลดังกล่าวจึงต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่ม จากมูลค่างานทั้งหมดนั้นด้วย

ทำให้คณะบุคคลดังกล่าวต้องรับผิดเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ตามแนววินิจฉัยของกรมสรรพากรที่ กค 0706/10581 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2550 เป็นกรณีที่ได้ไม่คุ้มเสียเลยนะครับ...

ภาษีคณะบุคคล ตอนที่ 3

ในช่วงนี้ ในแวดวงภาษีสรรพากร หลายท่านที่ประกอบวิชาชีพอิสระ ซึ่งมีการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เพื่อการกระจายเงินได้พึงประเมินออกจากการมีเงินเดือนค่าจ้าง อันเป็นรายได้ประจำกันเป็นอันมาก จึงเกิดปัญหาตามมาว่าการจัดตั้งขึ้นห้างฯ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลดังกล่าวกระทำได้หรือไม่เพียงใด ดังตัวอย่างแนววินิจฉัยของกรมสรรพากร ต่อไปนี้ครับ

นาย ว. ได้จัดตั้งคณะบุคคลชื่อ “คณะบุคคลโดยนาย ว. หรือ ด.ช. จ.” และได้ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ประกอบกิจการรับทำบัญชี คณะบุคคลฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับ ปีภาษี 2547 ขอคืนภาษี สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร แจ้งว่า คณะบุคคลฯ ไม่สามารถรับทำบัญชีได้ และให้นำเงินได้จากการรับทำบัญชีดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภท เงินเดือนของนาย ว. นาย ว. จึงขอความเป็นธรรมในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าว

โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายมิได้กำหนดว่าผู้ร่วมในคณะบุคคลต้องมีความรู้ความสามารถในด้านเดียว กันหรือเท่าเทียมกัน แม้ ด.ช. จ. จะมีอายุย่างเข้า 12 ขวบ และเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 แต่ก็มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี โดยลักษณะงานที่ได้มอบหมายให้ ด.ช. จ. ช่วยปฏิบัติสนับสนุนการดำเนินกิจการของคณะบุคคลฯ ได้แก่ จัด เตรียมและพิมพ์ใบเสร็จรับเงินให้กับลูกค้า และเป็นผู้ลงนามในฐานะเป็นผู้รับเงินของสำนักงานบัญชี ค้นหาและสั่งพิมพ์ประกาศ และคำสั่งของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากรที่ได้แจ้งทางอินเทอร์เน็ต นำเอกสารของลูกค้าไปถ่ายเอกสาร และทำหน้าที่รับและส่งอีเมล จัดเก็บเอกสารเข้าแฟ้มและอื่น ๆ เป็นต้น

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว กรมสรรพากรมีแนววินิจฉัยว่า 
1. การประกอบกิจการร่วมกันในฐานะของคณะบุคคลตามประมวลรัษฎากรจะต้องเป็นกรณีที่ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน โดยในการประกอบกิจการในฐานะคณะบุคคลนั้นจะต้องร่วมกันประกอบกิจการตามความ เป็นจริงและร่วมกันรับผิดชอบในกิจการของคณะบุคคลนั้น และเงินได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการจะต้องเป็นของคณะบุคคลด้วย

2. คณะบุคคลมีสิทธิประกอบกิจการใดก็ได้ เว้นแต่โดยสภาพของหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำนั้นคณะบุคคลไม่อาจกระทำได้ เช่น การรับจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น

และในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ผู้อำนวยการหรือ ผู้จัดการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของคณะบุคคลนั้นตาม มาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามนัยหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/5637 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2548

ภาษีคณะบุคคล ตอนที่ 4

ถึงคราวที่มีคำถามไปที่ กรมสรรพากรว่า คณะบุคคลแพทย์จัดตั้งได้หรือไม่เพียงใด กรมสรรพากรได้มีหนังสือตอบข้อหารือที่ กค 0811/2227 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2545  ดังนี้

คณะบุคคลยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 ราย คณะที่ 1 คณะบุคคลนายแพทย์ ส. และคณะ จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบวิชาชีพเวชกรรมประกอบด้วย นายแพทย์ ส. และนายแพทย์ บ. โดยนายแพทย์ ส. เป็นผู้จัดการ และคณะที่ 2 คณะบุคคลนายแพทย์ บ. และคณะ จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบวิชาชีพเวชกรรมประกอบด้วย นายแพทย์ ส. และนายแพทย์ บ. เพื่อประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยนายแพทย์ บ.เป็นผู้จัดการ มีปัญหาว่าคณะบุคคลทั้งสองเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้กรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัยว่า
คณะบุคคลเป็นหน่วยภาษีที่ถูกกำหนดขึ้นตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้ครอบคลุมการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีบุคคลตั้งแต่สองคน ขึ้นไปตกลงกระทำกิจการร่วมกัน คณะบุคคลมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากยอดเงินได้พึงประเมินทั้ง สิ้นที่ได้จากการประกอบกิจการร่วมกัน ตามนัยมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบุคคลในคณะบุคคลทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงโดยไม่มีจำกัด

กรณีตามข้อเท็จจริงนายแพทย์ ส. และนายแพทย์ บ. มีเงินได้จากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมร่วมกัน จึงเข้าลักษณะเป็นคณะบุคคล แม้จะมีการจัดตั้งคณะบุคคลโดยแบ่งออกเป็น 2 คณะ แต่ทั้ง 2 คณะประกอบด้วยบุคคลในคณะบุคคลที่เป็นบุคคลเดียวกัน คือ นายแพทย์ ส. และนายแพทย์ บ. จึงต้องถือว่าเป็นคณะบุคคลเดียวกัน ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคณะบุคคล ดังกล่าว จึงต้องนำเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้นที่ได้รับจากการเป็นคณะบุคคลมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ก็เป็นอันว่า การสลับชื่อบุคคลในคณะบุคคลที่มีคณะบุคคลเป็นกลุ่มคนเดียวกันนั้น ไม่อาจทำให้เป็นคณะบุคคลใหม่แต่อย่างใด เป็นผลให้ต้องนำเงินได้มารวมกันเป็นคณะบุคคลเดียว ซึ่งอาจทำให้ได้คืนภาษีน้อยลงหรืออาจต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะอัตราภาษีก้าวหน้าตามฐานภาษีที่สูงขึ้นเพราะเหตุที่นำเงินได้มาคำนวณ รวมกัน

ปัญหาเกี่ยวกับการเสียภาษีเงิน ได้ ของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มุมภาษีนำมาเล่าสู่กันฟังนี้ เป็นมุมมองในอดีตของกรมสรรพากรที่ไม่ได้มีการแยกให้ชัดเจนว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญกับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลแตกต่างกันอย่างไร อาจเป็นเพราะผลสุดท้ายของ การเสียภาษีเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลเหมือนกันทุกประการและประมวลรัษฎากรก็มิได้มีการแยกแยะให้ชัดแจ้ง แต่อย่างใด เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ที่จะมีการทบทวนกันใหม่หมดทั้งระบบครับ

ภาษีคณะบุคคล ตอนจบ

แต่เดิมการจัดเก็บภาษีเงินได้จากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมิได้กำหนดคำนิยามคำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างไร

หากแต่กล่าวรวม ๆ กันไว้ในหลายบทบัญญัติอาทิ มาตรา 42 (14)-การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จาก ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
หรือมาตรา 56 วรรคสอง ซึ่งกำหนด หน้าที่ในการยื่นรายการและเสียเงินได้บุคคลธรรมดาในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ คณะบุคคลที่มิใช่ติบุคคลเสมือนเป็นบุคคลธรรมดา คนเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยก
โดยให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการหรือผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

กรณีการ จัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล การจัดตั้งจึงกระทำได้โดยสัญญา ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

กรณีคณะบุคคล อันประกอบด้วยนาย ก. นาง ข. นาย ค. และนาง ง. ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ทำการซื้อขายที่ดิน ถือเป็นการแสดงเจตนาตกลงเข้ากันเพื่อซื้อที่ดินมาเพื่อขาย แม้จะได้มีการซื้อที่ดินบางแปลงโดยมีการระบุชื่อบุคคลในคณะบุคคลเพียงสามคน และต่อมาได้ขายไป โดยได้นำเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวทั้งหมดไปรวมคำนวณยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในนามของคณะบุคคลที่มีชื่อทั้งสี่คน
กรณี กรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัยตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/04248 ลงวันที่ 8 เมษายน 2541ว่า บุคคลทั้งสี่มีเจตนาในการจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ในการเสียภาษีจึงต้องเสียภาษีในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิ ใช่นิติบุคคลทั้งสี่คนนั้น 

และสำหรับกรณีการเสียภาษีเงินได้จากการขายที่ดินนั้น แม้ตามสัญญาซื้อขายจะได้ระบุชื่อบุคคลเพียงสามคนคือ นาย ก. นาง ข. และนาย ค. โดยบุคคลทั้งสามได้ นำเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวไปคำนวณเพื่อเสียภาษี เงินได้ในนามของคณะบุคคลทั้งสี่คนแล้วก็ถือได้ว่าเมื่อบุคคลทั้งสี่คนมี เจตนาในการตกลงเข้ากันเพื่อการซื้อขายที่ดินดังกล่าว

และ แม้ตามสัญญาซื้อขายจะได้ระบุชื่อบุคคลเพียงสามคน บุคคลที่สี่จึงถือเป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อ ตามมาตรา 806 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นการเสียภาษีเงินได้สำหรับการขายที่ดินดังกล่าวในนามของคณะบุคคลทั้งสี่คน จึงชอบด้วยมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

ที่มา..หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ความรับผิดทางภาษี ภงด.90 ภงด.91

ระบบการเสียภาษีเงินได้ของประเทศไทยนั้นใช้ระบบการประเมินตนเองซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีตามประเภทเงินได้ที่ตนได้รับตามแบบ ภ.ง.ด.91 กรณีมีเงินได้เฉพาะเงินเดือนเท่านั้น หรือ ภ.ง.ด.90 กรณีมีเงินได้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือน แล้วแต่กรณี ซึ่งหากผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้องไม่ว่าจงใจหรือไม่จงใจก็ตามผู้เสียภาษีจะมีภาระการชำระภาษีเพิ่มขึ้น

หากกรมสรรพากรมีการตรวจสอบแล้วพบว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการหรือเสียภาษีไม่ถูกต้อง โดยเสียภาษีไม่ครบถ้วน กรมสรรพากรจะใช้อำนาจประเมินภาษีเพิ่ม โดยอำนาจกรมสรรพากรในการประเมินภาษีย้อนหลังได้ไม่เกิน 2 ปี แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินขยายระยะเวลาได้ถึง 5 ปี ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้เสียภาษีจะต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม หากผู้เสียภาษีเห็นว่าการประเมินของกรมสรรพากรไม่ถูกต้อง จะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีโดยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้อุทธรณ์ภาษีต้องหาหลักทรัพย์มาวางประกันตามจำนวนภาษีที่ต้องเสียซึ่งหลักทรัพย์ที่นำมาวางเป็นประกันการอุทธรณ์ ได้แก่ เงินสด บัญชีเงินฝากประจำ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง พันธบัตร หรือใช้บุคคลค้ำประกัน อย่างไรก็ตามหากผู้อุทธรณ์ไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาวางได้ กรมสรรพากรอาจดำเนินการเตือนให้ผู้ถูกประเมินหาหลักทรัพย์มาวางเป็นประกันในการอุทธรณ์ สืบหาทรัพย์ของผู้ถูกประเมิน หากผู้ถูกประเมินไม่ดำเนินการ อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์ของผู้ถูกประเมินเพื่อขายทอดตลาดได้ โดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรืออายัดหากทรัพย์สินของผู้ถูกประเมินถูกเจ้าหนี้อื่นอายัดไว้แล้ว กรมสรรพากรก็มีอำนาจอายัดซ้ำได้และมีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์กับเจ้าหนี้อื่นๆ

หากในที่สุดผู้ถูกประเมินไม่สามารถชำระภาษีได้ก็จะถูกฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง หรือศาลจังหวัดกรณีคดีมิได้เกิดในกรุงเทพมหานคร ในระหว่างรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือคำพิพากษาของศาลผู้ถูกประเมินต้องชำระภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้ง เนื่องจากการอุทธรณ์ไม่ถือเป็นการทุเลาการบังคับ เว้นแต่จะได้มีการยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรและได้รับอนุมัติให้ทุเลาการบังคับ

ดังนั้น ในการเสียภาษีควรให้ความสำคัญ และกระทำด้วยความละเอียดรอบคอบเป็นไปที่ตามกฎหมายกำหนดหากท่านใดที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ยังสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2556 เพื่อมิให้เกิดภาระภาษีเพิ่มขึ้นในภายหลัง และโปรดตรวจสอบอีกครั้งว่า “วันนี้ท่านเสียภาษีครบถ้วนแล้วหรือยัง...”

นางสาววรปรานี สิทธิสรวง
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ภงด.90 กรณีขายคืนกองทุน LTF หรือ RMF

Q.....ผมได้ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ไว้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้นเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาทตั้งแต่เมื่อปี 2549  และได้ถือหน่วยลงทุนที่ซื้อไว้จนครบ 5 ปีปฏิทิน โดยขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดในปี 2553  ได้เงินคืนมาเป็นจำนวนเงิน 320,764.89 บาท เท่ากับมีกำไรจากการลงทุน 120,764.89 บาท  ซึ่งเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมาย   แต่หนังสือแสดงการขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF ที่ผมได้รับจากบริษัทจัดการกองทุนรวมได้มีข้อความบอกให้ผมต้องนำเงินกำไรที่ได้รับนี้ไปแสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีเพื่อยื่นเสียภาษี  ผมไม่เข้าใจว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างครับ  และถ้าไม่ทำจะเป็นอะไรไหมครับ

A....คำถามนี้เป็นคำถามที่มีผู้ถามมาทุกครั้งเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลที่จะต้องมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี   โดยผมต้องขอเรียนผู้อ่านให้เข้าใจและหมดความกังวลก่อนนะครับว่า ผู้มีเงินได้ที่ขายคืนหน่วยลงทุนไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)  ซึ่งได้มีการลงทุนครบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดไว้แล้ว  หากมีกำไรจากการลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินกำไรที่ได้รับนั้น  แต่จุดมุ่งหมายของข้อความในหนังสือแสดงการขายคืนหน่วยลงทุนที่บอกกล่าวไว้นั้น
ก็เพียงต้องการให้ผู้ที่ขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF หรือกองทุนรวม RMF  นำเงินกำไรที่ได้ไปกรอกรายการในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 ประจำปี สำหรับกรณีผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป
ซึ่ง ภ.ง.ด. 90 นั้นเป็นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้ซึ่งมีเงินได้อื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) หรือไม่ได้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1)
เพียงประเภทเดียว  โดยกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF หรือกองทุนรวม RMF นั้นถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)  โดยหากผู้ที่ขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF หรือ กองทุนรวม RMF มีการลงทุนครบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดแล้วก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรที่ได้รับมานั้น  ซึ่ง ภ.ง.ด. 90 นั้นจะมีช่องสำหรับกรอกรายการเงินกำไรที่ได้รับยกเว้นไว้ให้

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนผมจึงขอนำแบบแสดงรายการข้อ 7 ข้อย่อยที่ 4. และ 5. ในรายการเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ซึ่งอยู่ในหน้า 3 ของ ภ.ง.ด. 90 มาให้ดูว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร  และผู้มีเงินได้จะต้องดำเนินการอย่างไร  สำหรับกรณีของผู้ถามที่มีการลงทุน 200,000 บาท และขายคืนเมื่อครบระยะเวลา 5 ปีปฏิทินได้รับเงินคืน 320,764.89 บาท ซึ่งมีกำไร 120,764.89 บาท  ในการกรอกรายการก็จะกรอกรายการในข้อย่อยที่ 5. ว่ามี “เงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” จำนวน 320,764.89 “หัก ราคาทุน” 200,000.00 แล้วทำเครื่องหมายในช่อง “o ยกเว้น” ของ “เงินส่วนต่างกรณี ราคาขายมากกว่าราคาทุน” และกรอกจำนวนเงินกำไร 120,764.89 ไว้ในบรรทัดเดียวกันนั้น  ก็เป็นอันเสร็จสิ้น  โดย
ในส่วนของจำนวน "รวม" ถึง “ยกไปรวมใน ข้อ 10 1.” นั้น ก็ไม่ต้องนำกำไร 120,764.89 ไปรวมกับจำนวนอื่นๆ (ถ้ามี) ครับ

แต่หากเป็นกรณีที่ขายคืนโดยปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด  ก็ให้ทำเครื่องหมายในช่อง “o ไม่ยกเว้น” ของ “เงินส่วนต่างกรณีราคาขายมากกว่าราคาทุน” และกรอกจำนวนเงินกำไรไว้ในบรรทัดเดียวกันนั้น  แล้วให้นำกำไรนั้นไปรวมกับจำนวนอื่นๆ (ถ้ามี) แล้วกรอกจำนวนรวมในบรรทัด "รวม" ถึง “ยกไปรวมใน ข้อ 10 1.” ด้วย   สำหรับกรณีเงินกำไรที่ได้จากกองทุน RMF ก็จะมีลักษณะในการกรอกรายการในแบบ ภ.ง.ด. 90 ข้อ 7 เช่นเดียวกัน โดยอยู่ในข้อย่อยที่ 4. ครับ

ประโยชน์ของการแจ้งกำไรจากการลงทุนในกองทุน LTF หรือ RMF ในรายการของแบบ ภ.ง.ด. 90 นั้น  นอกจากจะมีไว้เพื่อการตรวจสอบของกรมสรรพากรแล้ว  ผู้มีเงินได้ยังจะสามารถนำเงินกำไรจากการลงทุนในกองทุนรวม LTF หรือ RMF ที่แจ้งนั้นไปคำนวณรวมเป็นฐานเงินได้สำหรับซื้อกองทุนรวม LTF และ RMF ใหม่ในปีที่ขายคืนนั้นได้อีกด้วยครับ

กรณีที่มีกำไรและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นั้นหากจะไม่ดำเนินการกรอกรายการตามที่กล่าวแล้วในข้างต้นจะมีผลอย่างไรนั้น  คงจะตอบได้ว่าไม่มีผลกระทบให้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านภาษีที่จะต้องจ่ายแต่อย่างใดครับ  แต่ปัจจุบันเท่าที่ทราบกรมสรรพากรจะติดต่อเรียกให้ผู้มีเงินได้ไปดำเนินการแก้ไขการยื่นแบบให้ถูกต้อง  ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้ต้องเสียเวลาไปดำเนินการเท่านั้น 

ส่วนกรณีถ้ามีกำไรแต่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้แล้วไม่กรอกรายการให้ถูกต้อง  นอกจากจะเสียเวลาแล้ว  ผู้มีเงินก็อาจจะต้องเสียภาษีพร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับได้  ตามแต่กรณีหากคำนวณแล้วมีภาษีในจำนวนที่สูงกว่าเดิมที่เคยได้ยื่นแบบไว้   ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้อาจจะสงสัยว่ากรมสรรพากรจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้มีเงินได้มีการขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF หรือกองทุนรวม RMF แล้วมีกำไรหรือขาดทุน  ผมขอเรียนเพื่อทราบว่า กรมสรรพากรได้มีหนังสือขอให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทุกแห่งนำส่งรายการของการซื้อขายกองทุนรวม LTF และกองทุนรวม RMF ไปยังกรมสรรพากรทุกปี

ดังนั้น หากกรมสรรพากรทำการตรวจสอบจากข้อมูลตามที่มีการส่งให้นั้น  กรมสรรพากรจะทราบว่าผู้มีเงินได้รายใดมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในส่วนของการขายคืนกองทุนรวม LTF และกองทุนรวม RMF ไว้อย่างไม่ถูกต้องได้ครับ

ที่มา..bangkokbiznews.com

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับการลงทุนใน LTF

ให้ซื้อเมื่อเห็นว่าราคาต่ำและขายเมื่อเห็นว่าราคาสูง  โดยไม่ต้องสนใจนำส่วนที่ซื้อไปยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี  อยากทราบว่าทำได้จริงหรือไม่ แล้วมีผลอย่างไรเกี่ยวกับภาษีบ้างหรือไม่ รบกวนขอคำอธิบายด้วยค่ะ

A....การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) รวมถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นั้น  ไม่ได้มีข้อห้ามในการที่ผู้มีเงินได้ซึ่งมีการลงทุนเฉพาะส่วนที่เป็นไปตามจำนวนที่มีสิทธิ์ลงทุนเพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี เช่น กรณีของ LTF คือไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งหมดประจำปีภาษีนั้น   แล้วผู้มีเงินได้จะไม่ใช้สิทธิ์นั้นในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีครับ   ซึ่งการไม่ใช้สิทธิ์ในลักษณะนี้ จะทำให้ผู้มีเงินได้ไม่มีภาระใดๆ ที่จะต้องนำเงินภาษีที่เคยหักลดหย่อนจากการลงทุนใน LTF หรือ RMF คืนให้กับกรมสรรพากรเมื่อมีการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการลงทุนครับ  ทั้งนี้ รวมถึงเงินเพิ่มที่จะเกิดจากส่วนที่มีการใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีสำหรับการลงทุนใน LTF หรือเงินเพิ่มที่จะเกิดจากการชำระคืนภาษีที่เคยหักลดหย่อนย้อนหลังไม่เกิน 5 ปีปฏิทินไม่ทันภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่มีการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการลงทุนสำหรับการลงทุนใน RMF เหมือนการนำไปใช้สิทธิ์ด้วยครับ

อย่างไรก็ดี ผมขอทำความเข้าใจและเรียนให้ผู้อ่านทราบเสียก่อนว่า ตามความใน (32) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มาตรา 42 (17) ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) กำหนดให้เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  แต่ไม่รวมถึงเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ RMF หรือ LTF ครับ 

ซึ่งหลังจากความใน (32) แล้วจึงมาดูความใน (66) กับ (67) สำหรับ LTF  และ (56) กับ (65) สำหรับ RMF ที่กำหนดให้เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ LTF และ RMF ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเท่านั้นที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี  สรุปคือ หากผู้มีเงินได้ขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแล้วมีกำไร  กำไรที่เกิดจากการลงทุนในกองทุนรวมนั้นได้รับยกเว้นภาษี  เว้นแต่กำไรที่เกิดจากการลงทุนนั้นเป็น RMF หรือ LTF จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีถ้าไม่ได้เป็นการลงทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เช่น กรณีของ LTF คือ กำไรที่เกิดจากการลงทุนเฉพาะที่มาจากส่วนที่ลงทุนไว้ตามสิทธิ์ที่ได้รับยกเว้นภาษี และถือครอง LTF ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน ครับ

ดังนั้น กรณีผู้มีเงินได้ซื้อๆ ขายๆ LTF เพื่อเก็งกำไรระยะสั้นๆ คือ มีการถือครอง LTF น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน  ผู้มีเงินได้จะมีภาระและหน้าที่ที่จะต้องนำเงินกำไรที่ได้นั้นไปรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีประจำปีด้วย  ซึ่งหากผู้มีเงินได้ไม่ดำเนินการตามที่กรมสรรพากรกำหนดก็อาจจะทำให้ผู้มีเงินได้มีภาระในเรื่องเงินเพิ่มและเบี้ยปรับได้ แล้วแต่กรณีครับ   แต่ถ้าการซื้อขาย LTF ที่มีการถือครองมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน  แม้ผู้มีเงินได้จะไม่ได้นำเงินค่าซื้อในจำนวนที่ไม่เกินกว่าสิทธิ์ คือ ไม่เกิน 15% ของเงินได้ไปใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีไว้  แล้วมีกำไรจากการลงทุน  เงินกำไรที่ได้นั้นก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกันกับกรณีใช้สิทธิ์ครับ  ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีของส่วนที่มีการซื้อเกินจำนวนที่มีสิทธิ์ คือ เกินกว่า 15% ของเงินได้  ถึงจะถือครอง LTF ไว้เป็นระยะเวลานานเท่าไร  เมื่อมีการขายคืน LTF แล้วมีกำไรก็จะต้องนำกำไรที่ได้ไปรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีประจำปีเสมอนะครับ

ผู้มีเงินได้จึงต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่า หากจะเก็งกำไรระยะสั้นใน LTF นั้นจะมีภาระและหน้าที่ในการเสียภาษีกำไรที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งที่ลงทุนตามฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีเงินได้ คือ ไม่สามารถเอากำไรทั้งหมดมาหักกลบกับขาดทุนทั้งหมดเพื่อคำนวณภาษีได้  แล้วนำผลตอบแทนสุทธิที่จะได้รับเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารแห่งทุนทั่วไปที่นโยบายการลงทุนเหมือนๆ กันแต่ไม่ได้เป็น LTF ที่ไม่มีภาระและหน้าที่ในการเสียภาษีกำไรที่เกิดจากการลงทุนว่าอย่างไรจะดีกว่ากันครับ

ที่มา..bangkokbiznews.com

การจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

1.   ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยทั่วไป มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ซึ่งใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจะต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ (มาตรา 86/4)

          (1)   คำว่า "ใบกำกับภาษี"

          (2)   เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ

          (3)   ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ

          (4)   ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ

          (5)   หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีและหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

          (6)   วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

          (7)   ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณและมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

          (8)   จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

         กรณีที่มีการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ และผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบกำกับภาษี / ใบส่งของ อยู่ในฉบับเดียวกัน โดยส่งมอบสำเนาใบกำกับภาษี / ใบส่งของให้กับผู้ซื้อพร้อมกับการส่งมอบสินค้า ส่วนต้นฉบับของใบกำกับภาษี / ใบส่งของ จะส่งมอบให้กับผู้ซื้อต่อเมื่อได้รับชำระราคาค่าสินค้า กรณีนี้ถือว่ามิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องส่งมอบต้นฉบับของใบกำกับภาษี (เอกสารฉบับแรก) ให้กับผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้า

         สำเนาใบกำกับภาษี/ใบส่งของที่ผู้ซื้อได้รับ ผู้ซื้อจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการขอหักภาษีซื้อไม่ได้

         ในทางปฏิบัติ หากผู้ประกอบการต้องการเก็บต้นฉบับใบส่งของไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีกรณีผู้ซื้อไม่ชำระราคาค่าสินค้า ผู้ประกอบการควรออกใบกำกับภาษีแยกต่างหากจากใบส่งของและส่งมอบต้นฉบับใบกำกับภาษี พร้อมทั้งสำเนาใบส่งของให้กับผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้า โดยเก็บต้นฉบับใบส่งของไว้เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ หรือเพื่อความสะดวก ผู้ประกอบการอาจออกใบกำกับภาษีและใบส่งของอยู่ในเอกสารชุดเดียวกัน โดยถือปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีแบบเป็นชุด ก็ได้

       2.   ใบกำกับภาษีที่มีลักษณะเป็นแบบเอกสารออกเป็นชุด ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความประสงค์จะออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปรวมกับเอกสารการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับในชุดเดียวกัน และใบกำกับภาษีไม่ใช่เอกสารฉบับแรก ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

          (1)   ในเอกสารฉบับแรกของเอกสารชุดดังกล่าว หรือในเอกสารฉบับอื่นที่มิใช่ฉบับแรก แต่เป็นต้นฉบับของเอกสารฉบับอื่นใดก็ตาม ซึ่งมิใช่ฉบับที่เป็นใบกำกับภาษี จะต้องมีข้อความว่า "ไม่ใช่ใบกำกับภาษี" ไว้ในเอกสารฉบับนั้นด้วย

          (2)   ในเอกสารทุกฉบับของเอกสารชุดดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ไว้ด้วย

          (3)   ในเอกสารฉบับที่ถือว่าเป็นสำเนาของเอกสารฉบับอื่นจะต้องมีข้อความว่า "สำเนา" ไว้ทุกฉบับ

         ข้อความตาม (1) ถึง (3) ดังกล่าวข้างต้น จะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้

       3.   กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง และสถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่ได้นำใบกำกับภาษีของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการ จะต้องมีข้อความว่า "สาขาที่ออกใบกำกับคือ….." ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายางเขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วย วิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

       4.   กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งประกอบกิจการสถานบริการน้ำมัน ได้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือได้ขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรถยนต์ ที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จะต้องระบุ "เลขทะเบียนรถยนต์" ไว้ในใบกำกับภาษี โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วย วิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

       5.   กรณีของการฝากขายสินค้าตามสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้า ซึ่งตัวการและตัวแทนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 หรือร้อยละ 0 และทำสัญญาตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้า โดยตัวการได้ส่งมอบสัญญาให้แก่เจ้าพนักงานสรรพากรภายใน 15 วันนับแต่วันทำสัญญาตั้งตัวแทน เมื่อตัวแทนได้ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อ ตัวแทนต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในนามของตัวการ โดยตัวแทนต้องระบุชื่อ ที่อยู่และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนด้วย

       6.   กรณีได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้ออกใบกำกับภาษีเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ จะต้องระบุอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยไว้ในใบกำกับภาษี โดยอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว จะต้องตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ (อัตราแลกเปลี่ยน ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีที่ไม่สามารถคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร

กำหนดหลักประกันความรับผิดชอบต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

ถาม-ตอบ เรื่องกำหนดหลักประกันความรับผิดชอบต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
คำถามและคำตอบเกี่ยวกับกฎกระทรวง
เรื่อง  กำหนดหลักประกันความรับผิดชอบต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

1.  คำถาม   ผู้ใดต้องจัดให้มีหลักประกัน
  คำตอบ เฉพาะนิติบุคคล  ซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี  ให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา  9 เท่านั้น  คือ
1.  นิติบุคคลรายใหม่  ที่จะยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี  ต้องจัดให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันมาพร้อมกัน
2.  นิติบุคคลที่จดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีอยู่แล้ว  ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ  (27 พฤษภาคม 2553)ให้จัดให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ (ภายใน 27 กรกฎาคม 2553)
กรณีที่นิติบุคคลให้บริการด้านการทำบัญชีหรือด้านการสอบบัญชีให้กับบริษัทในเครือ  โดยทำในนามของนิติบุคคลนั้นมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าว  เช่นนี้ถือว่าเข้าเครือข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา  11  ด้วย

2. คำถาม ประโยชน์ของการจัดให้มีหลักประกัน
คำตอบ    1.เพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา  11  แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี  พ.ศ. 2547
                     2.เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่บุคคลผู้ใช้บริการวิชาชีพบัญชี
                     3.เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังมากขึ้น

3.  คำถาม   นิติบุคคลจะแจ้งหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีด้วยวิธีการใด
     คำตอบ   ใช้แบบคำขอแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม (แบบสวบช. 5.3)  พร้อมแนบหลักฐานดังต่อไปนี้
                      1.สำเนาหลักประกัน
                      2.สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมวัตถุประสงค์ไม่เกิน 1 เดือน
                      3.หนังสือมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคล
                      (เฉพาะกรณีที่กรรมการไม่สามารถลงนามในแนบ  สวบช. 5.3 ได้)
                      4.สำเนาใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว  (ถ้ามี)
                     เตรียมแบบสวบช.  5.3  พร้อมหลักฐาน  จำนวน  2  ชุด  และชำรพค่าดำเนินการ  จำนวน  400  บาทและยื่นแบบสวบช.  5.3  และหลักฐาน  ได้ที่  ที่ทำการสภาวิชาชีพบัญชีฯ  ถนนสุขุมวิท21(อโศก) หรือ ส่งทางไปรษณีย์
                     มายังสภาวิชาชีพบัญชีฯ เลขที่ 133 ถนนสุขุมวิท21(อโศก)  แขวงคลองเตยเหนือ  เขตวัฒนา  กรุงเทพฯ  10110  หรือ  ส่งที่สำนักงานสาขาสภาวิชาชีพบัญชีฯ
                     สำหรับการจัดให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีครั้งแรกนิติบุคคลต้องจัดให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 นี้  ส่วนการ   จัด ให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน ครั้งต่อไป ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นรอบบัญชีทุกปีของแต่ละนิติบุคคล

4.  คำถาม   หน่วยลงทุนในกองทุน หุ้น หรือตราสารต่างๆ ใช้เป็นหลักประกันได้หรือไม่
     คำตอบ ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ประเภทของหลักประกันตามกฎกระทรวง ข้อ  3

5.  คำถาม   ทุน ในความหมายตามข้อ  2  ของกระทรวงฉบับนี้ หมายถึง  ทุน ของบริษัทที่ให้บริการทำบัญชีหรือสอบบัญชีใช่หรือไม่
     คำตอบ   1.ทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัด  ที่บริษัทจำกัดยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ของบริษัทจำกัดที่ให้บริการทำบัญชีหรือสอบบัญชี
                      2.ทุนชำระแล้วของบริษัทมหาชน

6.  คำถาม   กรณีเปลี่ยนแปลงประเภทหลักประกัน  นิติบุคคลต้องดำเนินการอย่างใด
      คำตอบ   กรณี เปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันในระหว่างรอบปีบัญชี  ให้นิติบุคคลแจ้งการเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง  โดยใช้แนบ  สวบช. 5.4  คำขอแจ้งเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม  พร้อมแนบหลักฐานดังต่อไปนี้
                     1.สำเนาหลักประกัน
                     2.สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมวัตถุประสงค์ไม่เกิน 1 เดือน
                     3.หนังสือมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคล   (ถ้ามี)
                     4.สำเนาใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว  (ถ้ามี)
                     เตรียมแบบสวบช.  5.3  พร้อมหลักฐาน  จำนวน  2  ชุด  และชำรพค่าดำเนินการ  จำนวน  400  บาทและยื่นแบบสวบช.  5.3  และหลักฐาน  ได้ที่  ที่ทำการสภาวิชาชีพบัญชีฯ  ถนนสุขุมวิท21(อโศก) หรือ ส่งทางไปรษณีย์  มายังสภาวิชาชีพบัญชีฯ เลขที่ 133 ถนนสุขุมวิท21(อโศก)  แขวงคลองเตยเหนือ  เขตวัฒนา  กรุงเทพฯ  10110  หรือ  ส่งที่สำนักงานสาขาสภาวิชาชีพบัญชีฯ

7.  คำถาม  วิธีการแสดงรายการในงบการเงินเกี่ยวกับหลักประกันต้องแสดงอย่างไร  นิติบุคคลต้องเปิดเผยในงบการเงินหรือไม่   
   คำตอบ     การแสดงรายการงบการเกี่ยวกับหลักประกันให้แสดงไว้ในส่วนของรายการสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนภายใต้หัวข้อ  
สินทรัพย์ที่มีภาระผูกพัน  ซึ่งจะต้องอ้างอิงกับหมายเหตุประกอบงบการเงินที่จะต้องอธิบายรายละเอียดของ   หลักประกันตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

8.  คำถาม   กรณีเพิ่มหรือลดของทุนหรือรายได้ในระหว่างรอบปีบัญชีต้องแจ้งหลักประกันใหม่หรือไม่
   คำตอบ   การเพิ่มทุนหรือลดทุนของนิติบุคคลในระหว่างรอบบัญชีที่ไม่กระทบต่อจำนวนหลักประกันที่นิติบุคคลได้จัดให้มี
แล้วปีบัญชีนั้น  โดยไม่ต้องแจ้งต่อสภาฯ

9.  คำถาม   กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพบัญชี ที่จะนำมาเป็นหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่ 3 มีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมที่จะต้องนำมาพิจารณา เช่น ต้องเป็นกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพบัญชีของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้เท่านั้น  หรือไม่
   คำตอบ
   ใช่  ทั้งนี้ นิติบุคคลสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้จาก  สำนักงาน  คปภ. เกี่ยวกับบริการดังกล่าว

10.   คำถาม   กรณีบริษัทมีกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดชอบทางวิชาชีพบัญชีของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี  หากบริษัทมีรายได้จากสอบบัญชีและทำบัญชีทั้งสิ้น 10 ล้านบาท หลักประกันร้อยละ 3  เป็นจำนวนเงิน  300,000 บาท ถ้าบริษัทจ่ายเบี้ยประกัน  100,000 บาท จำนวนเงินทุนประกันตามกรมธรรม์ 8 ล้านบาท ถือว่าหลักประกันเพียงพอตามข้อ4 ของกฎกระทรวง ใช่หรือไม่
       คำตอบ
  ใช่ ถือว่าเพียงพอตามข้อ4 ของกฎกระทรวง

11.  คำถาม  กรณีที่มีการต่ออายุกรรมธรรม์ในระหว่างรอบปีบัญชีต้องทำอย่างไร
คำตอบ  กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนประเภทหลักประกัน  ให้นิติบุคคลแจ้งการเปลี่ยนแปลงของหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

12.  คำถาม   การให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 9 คืออะไร
       คำตอบ
  ขณะนี้ยังไม่มีพระราชฎีกากำหนดวิชาชีพอื่น มีเพียงวิชาชีพการทำบัญชีและสอบบัญชีเท่านั้น

13.  คำถาม  รายได้ค่าที่ปรึกษาภาษีอากร ที่ปรึกษากฎหมาย ถือเป็นรายได้จากการทำบัญชีหรือสอบบัญชีหรือไม่
       คำตอบ
   ไม่ใช่

14.  คำถาม   นิติบุคคลมีธุรกิจหลายประเภท  เช่น  ผลิตสินค้า  ให้บริการ  และรับทำบัญชีด้วย  ต้องจดทะเบียนหรือไม่
คำตอบ   หากนิติบุคคลมีรายละเอียดวัตถุในการประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชี  หรือด้านการทำบัญชีตามที่ยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  นิติบุคคลนั้นก็ต้องจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีด้วยตามมาตรา 11  แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547  และจัดให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน

15. คำถาม  นิติบุคคลที่ให้บริการทั้งทำบัญชีและสอบบัญชี  ต้องคำนวณหลักประกันอย่างไร
      คำตอบ
  ต้องนำรายได้ทั้งทำบัญชีและสอบบัญชีมารวมกันและพิจารณาว่ารายได้หรือทุนมากกว่า จึงคำนวณร้อยละ3 จากรายการนั้น

16. คำถาม   หากใช้การคำนวณหลักประกันจากรายได้ของรอบปีที่ผ่านมา  แต่นิติบุคคลจะจัดทำหลักประกันมากกว่าร้อยละ3 ได้หรือไม่
      คำตอบ
   ได้

17. คำถาม   หากรายได้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละปี บัญชีเงินฝากที่ใช้เป็นหลักประกันสามารถใช้บัญชีเงินฝากเดิม  แต่เพิ่มจำนวนเงิน หรือลดจำนวนเงินได้หรือไม่ หรือต้องเปิดบัญชีใหม่
       คำตอบ
   ใช้บัญชีเงินฝากเดิม หรือจะเปิดบัญชีใหม่ก็ได้

18. คำถาม    หากนิติบุคคลปิดงบไม่ทันภายใน 60 วัน จะต้องนำหลักฐานใดสำหรับการจัดให้มีหลักประกัน
      คำตอบ
    บริษัทต้องรวบรวมรายได้  จากใบเสร็จ หรือรายการรับชำระที่ได้จากการประกอบวิชาชีพบัญชีด้านการสอนบัญชี 
      หรือด้านการทำบัญชี โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันปิดงบ

19. คำถาม   ประเภทของหลักประกันของบัตรเงินฝากเป็นของบุคคล  หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามได้หรือไม่
      คำตอบ
ไม่ได้  ต้องเป็นชื่อของนิติบุคคลเท่านั้น

20. คำถาม   มีหลักเกณฑ์การลดหลักประกันหรือไม่
      คำตอบ
  การลดหรือเพิ่มหลักประกันต้องพิจารณาถึงรายได้หรือทุนหลังจากวันสิ้นรอบปีบัญชีของทุกปี

21. คำถาม   หนังสือค้ำประกันของธนาคาร (Bank Guarantee) ถือเป็นหลักประกันได้หรือไม่ และผู้ใดเป็นผู้รับผลประโยชน์
      คำตอบ
  ไม่ถือเป็นหลักค้ำประกัน  ตามประเภทที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

22. คำถาม   นิติบุคคลจะถอนหลักประกันที่แจ้งไว้ต่อสภาฯ ได้หรือไม่
       คำตอบ
   ไม่ได้  เพราะนิติบุคคลต้องดำรงหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามตลอดระยะเวลาประกอบกิจการ  
                      ตามกฎกระทรวง ข้อ5 หากฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดตามมาตรา 66

23. คำถาม   นิติบุคคลได้ทำประกันไว้กับบริษัทประกันภัยในต่างประเทศอยู่แล้ว จะใช้ได้หรือไม่
       คำตอบ
   กฎกระทรวงไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับบริษัทประกันภัยไว้ แต่ควรเลือกทำประกันกับบริษัทในประเทศจะได้รับความคุ้มครองมากกว่า เพราะสำนักงาน คปภ. เป็นผู้กำกับดูแลบริษัทประกันภัยในประเทศ หากเป็นบริษัทประกันภัยในต่างประเทศ หากเกิดความเสียหายอาจเกิดปัญหาในการเรียกร้องสินไหมทดแทน

24. คำถาม  กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีการขยายเวลายื่นงบการเงินได้ สภาวิชาชีพบัญชีจะขยายเวลาผ่อนผันการแจ้งหลักประกันหรือไม่
       คำตอบ
การขยายเวลาการยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  เป็นอำนาจของอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพิจารณาสั่งให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีได้ตาม 11  แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ส่วนกฎกระทรวงกำหนดความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2553 ประกอบพระราชบัญญัติวิชาชีพพ.ศ.2547 ไม่ได้กำหนดให้วิชาชีพบัญชี หรือกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจพิจารณาขยายเวลาผ่อนผันการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันได้

25. คำถาม   การจัดให้มีหลักประกันร้อยละ3 นั้น จะต้องจัดสะสมไว้แต่ละปี หรือ เป็นการคงหลักประกันไว้ที่ร้อยละ3 ของทุนหรือรายได้ในรอบปีที่ผ่านมาเท่านั้น
      คำตอบ
   ไม่มีการสะสมหลักประกันในแต่ละวันสิ้นรอบปีบัญชี แต่ต้องคำนวณใหม่เพื่อจัดให้มีหลักประกันและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันใหม่ หากมีการเพิ่มทุนหรือลดทุน  หรือรายได้เพิ่มขึ้นหรือรายได้ลดลง ในแต่ละวันสิ้นรอบปีบัญชี

26. คำถาม  นิติบุคคลมีรายได้ลดลงจากปีก่อน  ต้องจัดให้มีหลักประกันร้อยละ3 จากทุนจดทะเบียนใช่หรือไม่
      คำตอบ
หากรายได้ลดลงจนน้อยกว่าทุนจดทะเบียน ให้คำนวณร้อยละ3 ของทุนจดทะเบียน

27. คำถาม   นิติบุคคลมีเงินฝากประจำไม่เพียงพอ จะใช้หลักประกันประเภทอื่นร่วมด้วยได้หรือไม่
      คำตอบ
  ได้ ตามกฎกระทรวงข้อ3

28. คำถาม  นิติบุคคลมีเงินฝากประจำประเภท 1 ปีอยู่แล้ว สามารถนำบัญชีที่มีอยู่มาใช้เป็นหลักประกันได้หรือไม่หรือต้องเปิดบัญชีใหม่แยกอีก1 บัญชี
       คำตอบ
ได้ หากบัญชีเงินฝากดังกล่าวเปิดบัญชีในนามของนิติบุคคลนั้นๆ

29. คำถาม   ในกรณีวงเงินในบัตรเงินฝากสูงกว่าวงเงินหลักประกัน จะมีวิธีการแยกเฉพาะส่วน หรือ กำหนดวงเงินประกันสำหรับบัตรเงินฝากแยกต่างหากออกจากกันอย่างไร
       คำตอบ
   ให้ถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงข้อ4 กล่าวคือ จำนวนของหลักประกันตามข้อ3(2)(3)และ(4)ให้ถือตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตราสารนั้น ส่วนหลักประกันตามข้อ 2(5) ให้ถือตามจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

ภาระภาษีจากการโอนเงินไปต่างประเทศ กับ ภงด.54 และ ภพ.36

ค่านายหน้ากรณีผู้รับเป็นนิติบุคคล
สำหรับค่านายหน้าทางด้านผู้มีเงินได้เป็นนิติบุคคล ไม่ค่อยมีปัญหานัก เพราะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) เพียงกรณีเดียว

รับค่านายหน้าจากต่างประเทศต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
โดยปกติ ค่านายหน้าเป็นกิจกรรมที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าผู้รับมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี อยู่ในบังคับต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้นกรณีค่านายหน้าที่ได้รับจากต่างประเทศ ที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็คือตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 40 ข้อ 2 (3) “มูลค่าของการให้บริการเนื่องจากการเป็นนายหน้าตัวแทนให้แก่ผู้ประกอบการใน ต่างประเทศ ทั้งนี้เฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศดังกล่าวขายสินค้า หรือให้บริการกับผู้ซื้อหรือผู้รับบริการในต่างประเทศด้วยกัน”

ค่านายหน้าที่ได้รับจากต่างประเทศที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น บริษัทเป็นนายหน้าขายสินค้าให้กับบริษัทในประเทศสิงคโปร์ และบริษัทในสิงค์โปร์ได้ขายสินค้าให้กับบริษัทในประเทศเวียดนาม บริษัทจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่านายหน้าที่ได้รับดังกล่าวมารวมคำนวณภาษี มูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2 (3) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 40 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.1564 ลว.29 มกราคม 2539)

ตัวอย่างค่านายหน้ารับจากต่างประเทศที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น กรณีที่บริษัทฯ เป็นผู้ทำการติดต่อในการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ซื้อในประเทศกับบริษัทผู้ ขายในต่างประเทศ ทำให้บริษัทในต่างประเทศสามารถขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยได้ ถือว่า บริษัทฯ เป็นนายหน้าขายสินค้าของบริษัทในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่นำค่านายหน้าที่ได้รับจากบริษัทในต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
โดยเสียภาษีใน อัตราร้อยละ 30 จากกำไรสุทธิ และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเสียภาษีในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือตอบกรมสรรพากรที่ กค 0811/พ.09658 ลว. 14 กันยายน 2542 http://www.rd.go.th/publish/23724.0.html )
สิ่งที่ควรจะต้องระวังในการรับค่านายหน้าจากต่างประเทศก็คือ กรณีเป็นนายหน้าตัวแทนให้กับบริษัทต่างประเทศเพื่อขายสินค้าให้ลูกค้าใน ประเทศไทย ต้องดูด้วยว่าบริษัทผู้รับค่านายหน้าเข้าข่ายเป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนให้ กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตามมาตรา 76 ทวิหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายเป็นตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศตามมาตรา 76 ทวิ ก็จะต้องมีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษีแทนนิติบุคคลต่างประเทศ อีกทั้งยังมีภาระต้องยื่นแบบนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 ทวิ การจ่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยอีกด้วย แม้ว่าบริษัท จะเพียงแต่รับค่านายหน้าจากการขายสินค้าหรือบริการ โดยไม่ได้มีส่วนในการรับ จ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการนั้นแต่อย่างใด กรณีนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2548 วินิจฉัยเอาไว้แล้ว


การหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายค่านายหน้าให้กับนิติบุคคลนั้นมีอยู่ 2 กรณีคือ
มาตรา 3 เตรส ซึ่งคำสั่งทป.4/2528 ข้อ 3/1 กำหนดให้ผู้จ่ายที่เป็นนิติบุคคลหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราดังนี้
1. ผู้รับเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย หักในอัตรา 3%
2. ผู้รับเป็นมูลนิธิหรือสมาคม (แต่ไม่ใช่มูลนิธิหรือสมาคมที่เข้าข่ายเป็นองค์การสาธารณกุศลตามประกาศรัฐมนตรีฯ) หักในอัตรา 10%

มาตรา 70 ผู้จ่ายไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล จ่ายค่านายหน้าให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย หักในอัตรา 15% ยกเว้นการจ่ายค่านายหน้าให้กับนิติบุคคลต่างประเทศที่เป็นประเทศที่มี อนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย ค่านายหน้าที่ได้รับจะเข้าข่ายเป็นกำไรจากธุรกิจ หากนิติบุคคลต่างประเทศนั้นไม่มีสถานประกอบการถาวรในไทย ประเทศไทยในฐานะประเทศแหล่งเงินได้จะไม่มีสิทธิจัดเก็บภาษีเงินได้กับ นิติบุคคลต่างประเทศนั้นได้ การจ่ายเงินค่านายหน้าดังกล่าวจึงไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

การนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
1. ถ้าเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส จะนำส่งด้วยแบบ ภงด.53
2. ถ้าเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 จะนำส่งด้วยแบบ ภงด.54

ที่เห็นจะเป็นปัญหากันบ่อย ๆ ก็คือนักบัญชีบ้านเรามักยึดเลข 3 คือเลขประจำชีวิต อะไรที่ไม่แน่ใจ ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ไว้ก่อน การจ่ายค่านายหน้าก็เลยหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 3% ทุกกรณีโดยไม่ได้ดูว่าจ่ายให้ให้ใคร ปัญหาจึงอยู่ที่ถ้าหักน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็อาจถูกสรรพากรให้ไปยื่นภาษีเพิ่มเติมพร้อมกับเงินเพิ่ม เช่น ถ้าไปจ่ายค่านายหน้าให้สมาคมฯ ซึ่งคำสั่งทป.4/2528 ข้อ 3/1 ให้หักในอัตรา 10% แต่ไปหักในอัตรา 3% เท่ากับนำส่งภาษีขาดไป 7% หรือกรณีจ่ายค่านายหน้าให้บุคคลธรรมดาที่เข้าข่ายเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ถ้าจ่ายค่านายหน้าไปเพียง 100,000 ไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ไปหักไว้ในอัตรา 3% คือ 3,000 ถือว่าหักโดยไม่มีหน้าที่ต้องหัก จะไม่มีผลต้องรับผิดต่อสรรพากร แต่กลายเป็นว่าผู้รับค่านายหน้าต้องถูกหักภาษีไปทั้งที่ไม่จำเป็นต้องถูกหัก แต่ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นว่าจ่ายค่านายหน้าไป 300,000 ซึ่งบริษัทควรจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 11,000 (เงินได้ 300,000 หักค่าใช้จ่าย 60,000 และลดหย่อนส่วนตัว 30,000 คงเหลือเงินได้สุทธิ 210,000 เงินได้สุทธิ 100,000 บาทแรกยกเว้นภาษี ที่เหลือ 110,000 x 10%) ถ้าไปหักไว้ในอัตรา 3% คือ 300,000 x 3% = 9,000 เท่ากับนำส่งภาษีต่ำไป 2,000 บาท สรรพากรอาจให้ผู้จ่ายเงินต้องนำส่งภาษีส่วนที่นำส่งขาดไปพร้อมเงินเพิ่มได้

การจ่ายค่านายหน้าไปต่างประเทศกับการยื่นแบบภพ.36
การยื่นแบบภพ.36 จะเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ
1. กิจการจ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ และผู้ประกอบการต่างประเทศนั้นเข้ามาให้บริการในไทยเป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ดูมาตรา 83/6 (1)) เช่น บริษัท ก. จำกัด จ้างบริษัทในต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของห้องแล็บของบริษัท ซึ่งอยู่ในประเทศไทย โดยบริษัทในต่างประเทศส่งพนักงานเข้ามาดำเนินการในไทย ถือว่าผู้ประกอบการในต่างประเทศเข้ามาให้บริการในไทย บริษัท ฯ จ่ายค่าซ่อมเครื่องจักรดังกล่าว มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.36) (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/610 ลว. 25 มกราคม 2544 )
2. กิจการจ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ และผู้ประกอบการนั้นได้ให้บริการในต่างประเทศแต่ได้มีการใช้บริการนั้นใน ประเทศไทย (ดูมาตรา 83/6 (2)) เช่น บริษัท ก. จำกัดส่งเครื่องจักรไปซ่อมในต่างประเทศ เมื่อบริษัทในต่างประเทศซ่อมเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ส่งกลับมาให้บริษัทฯ ใช้ในประเทศไทย ถือเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในไทย บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.36) (คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544 ข้อ 6 ตัวอย่าง (1))


การจ่ายค่านายหน้าไปต่างประเทศต้องยื่น ภงด.54 และภพ.36 ทุกครั้งหรือไม่ ?
การ จะยื่นแบบ ภงด.54 หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ ถ้าเป็นการจ่ายค่านายหน้าให้กับนิติบุคคลต่างประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษี ซ้อนกับไทย ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 ก็ต้องมีการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายด้วยแบบ ภงด.54 แต่ถ้าเป็นการจ่ายค่านายหน้าให้กับนิติบุคคลต่างประเทศที่มีอนุสัญญาภาษี ซ้อนกับไทย และนิติบุคคลนั้นไม่มีสถานประกอบการถาวร ค่านายหน้าที่ได้รับเข้าข่ายเป็นกำไรจากธุรกิจ จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่ต้องยื่นแบบ ภงด.54
สำหรับการยื่น ภพ.36 ก็ต้องดูว่าเข้าข่ายเป็นการให้บริการในต่างประเทศและมีการใช้บริการนั้นใน ประเทศหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็ต้องยื่นแบบ ภพ.36 ถ้าไม่เข้าข่ายก็ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภพ.36
ถ้าจะสรุปการยื่นแบบ ภงด.54 และ ภพ.36 สำหรับการจ่ายค่านายหน้าไปต่างประเทศ จะแบ่งออกได้เป็น 4 กรณี คือ
1. กรณีต้องยื่นทั้งแบบ ภงด.54 และ ภพ.36 จะเป็นกรณีจ่ายค่านายหน้าให้กับนิติบุคคลต่างประเทศซึ่งไม่มีอนุสัญญาภาษี ซ้อนกับไทย และค่านายหน้านั้นเข้าข่ายเป็นการให้บริการในต่างประเทศ แต่ได้มีการใช้บริการในประเทศ เช่น บริษัทจ่ายค่านายหน้าให้นิติบุคคลในประเทศพม่า เนื่องจากบริษัทในประเทศพม่าติดต่อแนะนำให้บริษัทในประเทศไทยขายสินค้าให้ กับลูกค้าภายในประเทศไทย เวลาจ่ายเงินค่านายหน้าต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 และต้องนำส่งภาษมูลค่าเพิ่ม (ภพ.36) ด้วย
2. กรณีต้องยื่นแบบ ภงด.54 แต่ไม่ต้องยื่นแบบ ภพ.36 จะเป็นกรณีจ่ายค่านายหน้าให้กับนิติบุคคลต่างประเทศซึ่งไม่มีอนุสัญญาภาษี ซ้อนกับไทย และค่านายหน้านั้นจัดเป็นการให้บริการที่ทำในต่างประเทศ และไม่ได้มีการใช้บริการในประเทศ เช่น บริษัท จ้างบริษัทในประเทศไต้หวัน ให้เป็นนายหน้าติดต่อหาลูกค้าในประเทศไต้หวัน เวลาจ่ายเงินค่านายหน้าต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ด้วยแบบ ภงด.54 แต่ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.36)
3. กรณีต้องไม่ยื่น ภงด.54 แต่ต้องยื่นภพ.36 เป็นกรณีบริษัทจ่ายค่านายหน้าให้นิติบุคคลต่างประเทศซึ่งมีอนุสัญญาภาษีซ้อน กับไทย และนิติบุคคลต่างประเทศนั้นไม่มีสถานประกอบการถาวรในไทยด้วย แต่ค่านายหน้านั้นเข้าข่ายเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้ บริการนั้นในประเทศ เช่น บริษัทฯ ได้รับการแนะนำจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีสถานประกอบการหรือตัวแทนในประเทศไทย โดยทางโทรศัพท์หรือโทรสาร ให้ติดต่อขายสินค้าให้กับลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทย การจ่ายเงินค่านายหน้าดังกล่าวไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (ภพ.36) (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811 (กม)/พ.2168 ลว.25 ธันวาคม 2541 http://www.rd.go.th/publish/23304.0.html)
4. กรณีไม่ต้องยื่นทั้ง ภงด.54 และภพ.36 จะเป็นกรณีจ่ายค่านายหน้าให้นิติบุคคลต่างประเทศซึ่งมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับ ไทย และนิติบุคคลต่างประเทศนั้นไม่มีสถานประกอบการถาวรในไทยด้วย และค่านายหน้าที่นิติบุคคลต่างประเทศได้รับไม่เข้าข่ายเป็นการให้บริการใน ต่างประเทศและใช้บริการนั้นในประเทศ เช่น บริษัทเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ได้จ่ายค่านายหน้าเพื่อเป็นค่าบริการในการจัดหาสินค้าและค่าตรวจสอบ (Q.C.) ให้กับบริษัทในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย การจ่ายเงินค่านายหน้าดังกล่าวไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/1552 ลว.23 กุมภาพันธ์ 2549 http://www.rd.go.th/publish/30945.0.html


แบบ ภ.พ.36 ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 3 ประเภท คือ
ส่วนที่ 1 ได้แก่ ผู้จ่ายเงินซึ่งจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้ ผู้ประกอบการที่เข้ามาประกอบกิจการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวฯ หรือให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ หรือให้แก่ผู้ประกอบการอื่นที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
ส่วนที่ 2 ได้แก่ ผู้รับรับโอนสินค้า หรือรับโอนสิทธิในบริการที่ได้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0
ส่วนที่ 3 ได้แก่ ผู้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือส่วนราชการขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถูกยึดมาตามกฏหมายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาด



การให้ทุนการศึกษาแก่พนักงาน ภาษีที่เกี่ยวข้อง

สรุปประเด็นที่กรมสรรพากรได้ตอบข้อหารือ มีดังนี้ ครับ

1. กรณีบริษัทฯ ได้มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโทแก่พนักงานของบริษัทฯ เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น หากค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธินำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีที่บริษัทฯ มีสิทธิหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายนั้น ต้องเป็นการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึก อบรมในสถานศึกษาที่ทางราชการของประเทศไทยจัดตั้งขึ้น หรือโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานเฉพาะที่มีฐานะเป็นมูลนิธิ สมาคม บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ
และ การให้บริการการศึกษาหรือฝึกอบรมต้องเป็นการศึกษาหรือฝึกอบรมในประเทศไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพ ความรู้ความสามารถ ทักษะ ฝีมือของลูกจ้างให้สูงขึ้น

3. กรณีหากบริษัทฯ จ่ายค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานไปศึกษาต่อดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่การดำเนิน งานของบริษัทฯ ไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงานผู้ได้รับทุน

ข้อหารือตามหนังสือเลขที่ : กค 0706(กม.06)/1568

วันที่ : 30 พฤษภาคม 2550

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการให้ทุนการศึกษาแก่พนักงาน

ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ
บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผลิตเครื่องหนัง บริษัทฯ ได้มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโทแก่พนักงานของบริษัทฯ เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวกับระบบการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงานสำหรับรองรับระบบในอนาคต ระยะเวลาของหลักสูตร 2 ปี หลังจากจบการศึกษาแล้ว ผู้ได้รับทุนต้องทำงานให้บริษัทฯ เป็นระยะเวลา 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนการศึกษา มีค่าใช้จ่ายในการศึกษาประกอบด้วย ค่าเทอม ค่าหนังสือ ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าประกันสุขภาพ และค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในหอพัก เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องครัว บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ มีสิทธินำค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 2 เท่าของค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ และค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงานผู้ได้รับทุนการศึกษาหรือไม่

แนววินิจฉัย
กรณีบริษัทฯ ได้มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโทแก่พนักงานของบริษัทฯ เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น หากค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธินำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีสิทธิหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายนั้น ต้องเป็นการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในสถานศึกษาที่ทางราชการของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นหรือสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษา-เอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานเฉพาะที่มีฐานะเป็นมูลนิธิ สมาคม บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ และการให้บริการการศึกษาหรือฝึกอบรมต้องเป็นการศึกษาหรือฝึกอบรมในประเทศไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพ ความรู้ความสามารถ ทักษะ ฝีมือของลูกจ้างให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นนายจ้าง ตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 ประกอบกับข้อ 3 และ 4 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่รับลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเข้าศึกษาหรือฝึกอบรม ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ของบริษัทฯ เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานของบริษัทฯ เข้ารับการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น และกรณีหากบริษัทฯ จ่ายค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานของบริษัทฯ ไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงานผู้ได้รับทุนดังกล่าว

เลขตู้ : 70/35010