ความรับผิดทางภาษี ภงด.90 ภงด.91

ระบบการเสียภาษีเงินได้ของประเทศไทยนั้นใช้ระบบการประเมินตนเองซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีตามประเภทเงินได้ที่ตนได้รับตามแบบ ภ.ง.ด.91 กรณีมีเงินได้เฉพาะเงินเดือนเท่านั้น หรือ ภ.ง.ด.90 กรณีมีเงินได้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือน แล้วแต่กรณี ซึ่งหากผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้องไม่ว่าจงใจหรือไม่จงใจก็ตามผู้เสียภาษีจะมีภาระการชำระภาษีเพิ่มขึ้น

หากกรมสรรพากรมีการตรวจสอบแล้วพบว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการหรือเสียภาษีไม่ถูกต้อง โดยเสียภาษีไม่ครบถ้วน กรมสรรพากรจะใช้อำนาจประเมินภาษีเพิ่ม โดยอำนาจกรมสรรพากรในการประเมินภาษีย้อนหลังได้ไม่เกิน 2 ปี แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินขยายระยะเวลาได้ถึง 5 ปี ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้เสียภาษีจะต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม หากผู้เสียภาษีเห็นว่าการประเมินของกรมสรรพากรไม่ถูกต้อง จะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีโดยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้อุทธรณ์ภาษีต้องหาหลักทรัพย์มาวางประกันตามจำนวนภาษีที่ต้องเสียซึ่งหลักทรัพย์ที่นำมาวางเป็นประกันการอุทธรณ์ ได้แก่ เงินสด บัญชีเงินฝากประจำ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง พันธบัตร หรือใช้บุคคลค้ำประกัน อย่างไรก็ตามหากผู้อุทธรณ์ไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาวางได้ กรมสรรพากรอาจดำเนินการเตือนให้ผู้ถูกประเมินหาหลักทรัพย์มาวางเป็นประกันในการอุทธรณ์ สืบหาทรัพย์ของผู้ถูกประเมิน หากผู้ถูกประเมินไม่ดำเนินการ อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์ของผู้ถูกประเมินเพื่อขายทอดตลาดได้ โดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรืออายัดหากทรัพย์สินของผู้ถูกประเมินถูกเจ้าหนี้อื่นอายัดไว้แล้ว กรมสรรพากรก็มีอำนาจอายัดซ้ำได้และมีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์กับเจ้าหนี้อื่นๆ

หากในที่สุดผู้ถูกประเมินไม่สามารถชำระภาษีได้ก็จะถูกฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง หรือศาลจังหวัดกรณีคดีมิได้เกิดในกรุงเทพมหานคร ในระหว่างรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือคำพิพากษาของศาลผู้ถูกประเมินต้องชำระภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้ง เนื่องจากการอุทธรณ์ไม่ถือเป็นการทุเลาการบังคับ เว้นแต่จะได้มีการยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรและได้รับอนุมัติให้ทุเลาการบังคับ

ดังนั้น ในการเสียภาษีควรให้ความสำคัญ และกระทำด้วยความละเอียดรอบคอบเป็นไปที่ตามกฎหมายกำหนดหากท่านใดที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ยังสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2556 เพื่อมิให้เกิดภาระภาษีเพิ่มขึ้นในภายหลัง และโปรดตรวจสอบอีกครั้งว่า “วันนี้ท่านเสียภาษีครบถ้วนแล้วหรือยัง...”

นางสาววรปรานี สิทธิสรวง
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น